อาการชา ปวดแปล๊บที่มือเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ วันนี้ขอหยิบยกสัก 1 สาเหตุยอดฮิตมาเล่าสู่กันฟังนะคะ นั่นคือโรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome) บางครั้งแพทย์อาจจะบอกด้วยชื่อที่ผู้ป่วยเข้าใจได้ง่ายขึ้น เช่น โรคประสาทข้อมือถูกกดทับ ประสาทมือชา หรืออื่น ๆ

โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับข้อมือเกิดได้อย่างไร?
เส้นประสาทมีเดียนจะวิ่งผ่านอุโมงค์ข้อมือ (Carpal Tunnel) ทำหน้าที่นำกระแสประสาทวิ่งผ่านมาตามมือ และนิ้วมาสู่กล้ามเนื้อบริเวณตามรูปที่เส้นประสาทผ่าน โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือ จะขอเรียกด้วยตัวย่อว่า CTS นะคะ เกิดขึ้นจากการที่ผนังของอุโมงค์ดังกล่าวเกิด ผังผืดหนาตัว หรือเกิดภาวะบวมอักเสบของเนื้อเยื่อภายใน จากการใช้ข้อมืออย่างต่อเนื่องซ้ำๆเป็นเวลานาน จึงทำให้อุโมงค์นี้ตีบแคบลงส่งผลให้เกิดการกดทับเส้นประสาทมีเดียนได้ ซึ่งโรคนี้จะพบได้บ่อยในบางอาชีพที่ต้องใช้ข้อมือกระดกขึ้น-ลง ใช้แรงข้อมือ มีการสั่นสะเทือนบริเวณข้อมือซ้ำๆซากๆ เช่น แม่ครัวที่ผัดกับข้าวทั้งวัน แม่บ้าน พนักงานที่ใช้เครื่องเจาะถนน แม่ค้าส้มตำ กลุ่มคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ทั้งวัน เป็นต้น
อาการโรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือ เป็นอย่างไร?
- มีอาการชา รู้สึกแปลบๆ รู้สึกยิบๆ หรือปวด บริเวณที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาทมีเดียน เช่น นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และส่วนต้นครึ่งนึงของนิ้วนาง บริเวณข้อมือ หรือในบางรายอาจมีอาการเหนือข้อมือขึ้นมาเล็กน้อยด้วย
- มักพบอาการในเวลากลางคืน หรือหลังตื่นนอน
- มักมีอาการถ้าต้องมีการเคลื่อนไหวหนักๆซ้ำๆที่ข้อ เช่น ขับมอเตอร์ไซค์ ทำงานบ้าน ซักผ้า ตำน้ำพริก ถือของหนัก
- ในรายที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการอ่อนแรง และลีบเล็กลงของกล้ามเนื้อบริเวณมือ
- การตรวจ Phalen’s test โดย ให้ผู้ป่วยงอข้อมือค้างไว้ 60 วินาที ให้ผลบวก (คือจะรู้สึกเสียวแปล๊บ, ปวด, ชาไปที่นิ้วกลาง, นิ้วชี้, นิ้วหัวแม่มือ)
- การตรวจ Durkan pressure test โดยกด median nerve ที่บริเวณข้อมือด้วยความแรงคงที่ หากผู้ป่วยเป็น CTS ผู้ป่วยจะมีอาการมากขึ้นภายในเวลา 30 วินาที
การรักษา โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือ ทำอย่างไร?
- การรักษาโดยไม่ใช้ยา ในผู้ที่มีอาการไม่มากแนะนำให้ปรับพฤติกรรม โดยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ต้องใช้ข้อมือบ่อย ๆ, รักษาโดยการกายภาพบำบัด ประคบร้อน กดนวดบริเวณผังผืดที่กดทับเส้นประสาท การยืดเส้นประสาทด้วยท่าทางต่างๆ, การใส่สปรินซ์ (Sprint/อุปกรณ์พยุง) เพื่อทำมือให้อยู่ในท่าที่เหมาะสม
- การรักษาโดยการใช้ยา เช่น การใช้ยาแก้ปวดลดอักเสบในกลุ่ม NSAID เพื่อลดการอักเสบของเนื้อเยื่อ เยื่อหุ้มเอ็น, การใช้ยาขับปัสสาวะ(Diuretics) ในกรณี บวม (edema) และเพื่อรักษาโรคร่วมอื่นๆ, การรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์ เข้าบริเวณข้อมือ ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
- การรักษาโดยการผ่าตัดในกรณีที่เป็นรุนแรง
ท่าบริหารมือสำหรับผู้ป่วย CTS
ลองดูตามรูปนะคะ ท่าบริหารมือง่ายๆ สำหรับผุ้ป่วย CTS
