อาการแสบร้อนบริเวณกลางอก ลิ้นปี่ เป็นอาการบ่อยที่สุดอาการหนึ่งที่ผู้ป่วยมักมาปรึกษากับเภสัชกรร้านยา ซึ่งอาการนี้เป็นหนึ่งในอาการบ่งชี้ของโรคกรดไหลย้อนค่ะ ที่อยากเขียนเรื่องนี้เป็นเพราะจากการอยู่ร้านยาพบว่าคนไข้ของเราเป็นโรคนี้กันเยอะ และนอกจากการกินยาเพื่อรักษาโรคแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความเข้าใจเกี่ยวกับโรคยังเป็นเรื่องสำคัญมากในการที่จะช่วยให้หายขาดจากโรคนี้ มีหลายคนยังไม่ทราบหรือบางทีก็คาดไม่ถึง ว่าพฤติกรรมบางอย่างที่ทำอาจจะกระตุ้นให้เกิดกรดไหลย้อนได้ เลยไม่ได้หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านั้น จนเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า “กินยาวนไปไม่หายสักที” เอาเป็นว่าวันนี้เราจะมาทำความเข้าใจให้มากขึ้นเกี่ยวกับโรคกรดไหลย้อนกันค่ะ
โรคกรดไหลย้อนเกิดขึ้นได้อย่างไร? จะขอเล่าเฉพาะสาเหตุหลักๆนะคะ
❤️สาเหตุที่ 1 การคลายตัวของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง
หูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง หรือ Lower esophargeal sphincter (LES) จะอยู่ระหว่างกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้น้ำย่อยที่มีความเป็นกรดจากกระเพาะอาหารไหลขึ้นมาสู่หลอดอาหาร หากหูรูดที่ว่านี้เกิดการเสื่อม ทำงานได้ไม่ปกติ หรือเกิดการคลายตัว ก็จะส่งผลให้กรดไหลย้อนขึ้นมาระคายเคืองหลอดอาหาร เป็นผลให้เกิดการทำลาย และอาจจะเกิดการอักเสบ เกิดแผลที่หลอดอาหารได้ค่ะ
❤️สาเหตุที่ 2 การมีบางส่วนของกระเพาะอาหารอยู่เหนือกระบังลม
ตามที่ถูกที่ควร กระบังลมและหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างควรอยู่ตำแหน่งเดียวกัน แต่ความผิดปกตินี้เกิดขึ้นจากการมีบางส่วนของกระเพาะอาหารดันเลื่อนขึ้นไปอยู่เหนือกระบังลม เรียกว่า Hiatal Hernia ซึ่งหากเป็นเช่นนี้แล้วประสิทธิภาพในการป้องกันกรดไหลย้อนของกระบังลมและหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างจะลดลงส่งผลให้กรดไหลย้อนขึ้นมาได้ง่ายขึ้น
❤️สาเหตุที่ 3 การเกิด Acid pocket
Acid pocket เกิดจากการที่กรดที่ถูกสร้างขึ้นในกระเพาะอาหารเพื่อช่วยย่อยอาหารไม่คลุกเคล้ากับอาหารดีพอ แล้วเกิดการลอยตัวขึ้นกลายเป็นชั้นฟิล์มของกรด ลอยอยู่เหนือชั้นอาหารในกระเพาะอาหาร (ลองจินตนาการถึงชั้นไขมันที่ลอยเหนือชั้นน้ำ คล้ายๆแบบนั้นแหละค่ะ) ชั้นกรดที่ว่านี้จะมีความเป็นกรดสูงมาก ค่า pH ประมาณ 1.7 – 2 ซึ่งจริงๆแล้วการเกิด Acid pocket ที่ว่าก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะสามารถพบได้ในคนสุขภาพดีที่ไม่เป็นกรดไหลย้อนได้เช่นกัน แต่ในคนที่เป็นกรดไหลย้อนนั้น จะเกิด Acid pocket บ่อยกว่า และมีความหนาของชั้นฟิล์มกรดที่มากกว่า รวมถึงบางครั้งอาจเกิด Acid pocket ร่วมกับภาวะการมีกระเพาะอาหารบางส่วนอยู่เหนือกระบังลม (Hiatal Hernia) จึงยิ่งทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันกรดไหลย้อนของกระบังลมและหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างจะลดลงไปอีก
❤️สาเหตุที่ 4 หลอดอาหารมีการบีบตัวผิดปกติ
โดยปกติแล้วหลอดอาหารจะมีการบีบตัวเพื่อไล่กรดและอาหารลงสู่ด้านล่าง (เรียกว่า peristalsis) แต่ในผู้ป่วยบางรายมีแรงบีบที่น้อยกว่าปกติ จึงเกิดภาวะกรดไหลย้อนได้ง่ายกว่าคนทั่วไปค่ะ
❤️สาเหตุที่ 5 ความดันของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างต่ำกว่าคนปกติ
หากความดันที่หูรูต่ำกว่าปกติ อาจจะส่งผลให้เกิดการคลายตัวของหูรูดได้ค่ะ จึงส่งผลให้เกิดกรดไหลย้อนได้มากขึ้น
อย่างที่กล่าวไปในตอนต้นอาการของกรดไหลย้อนนั้นไม่ได้มีเพียงแค่แสบร้อนกลางอกค่ะ ยังอาจจะมีอาการอื่นๆได้ด้วย มาดูกันค่ะ “อาการที่พบในผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน”
- แสบร้อนบริเวณหน้าอก ลิ้นปี่ บางครั้งร้าวไปถึงคอได้
- รู้สึกเหมือนมีก้อนอยู่ในลำคอ
- กลืนลำบาก กลืนแล้วเจ็บ
- มีอาการเจ็บคอ แสบลิ้นเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนเช้าๆ
- รู้สึกจุกแน่นหน้าอก คล้ายอาหารไม่ย่อย
- เรอเหม็นเปรี้ยว
- รู้สึกขม หรือเปรี้ยว เหมือนรสของกรดอยู่ในลำคอ
- ไอเรื้อรัง เสียงแหบเรื้อรัง
หากใครอ่านแล้วมีอาการแบบนี้สามารถมาปรึกษาเภสัชกรที่ร้านยาได้นะคะ เพื่อทำการซักประวัติและรักษาอย่างจริงจังซึ่งจะต้องใช้เวลารักษาราว ๆ 1-3 เดือน
? ปรับพฤติกรรมอย่างไร ไม่ให้เป็นกรดไหลย้อน ? อันนี้สำคัญมาก สำคัญสุดๆสำหรับคนเป็นโรคนี้ค่ะ
- กินอาหารให้เสร็จเรียบร้อยก่อนนอนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง!!! ห้ามกินเสร็จแล้วนอนเลย ใครทำแบบนี้กรดไหลย้อนถามหาแน่นอนค่ะ
- งดอาหารบางกลุ่ม เพราะ มีผลไปลดความดันของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างจึงทำให้กรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น เช่น อาหารมันๆทอดๆ, กระเทียม, หัวหอม, ช็อคโกแลต,พริก, พริกไทย, อาหารที่มีคาเฟอีน ชา, กาแฟ, แอลกอฮอล์
- งดอาหารที่ระคายเคืองเยื่อบุหลอดอาหาร เช่น อาหารเผ็ด น้ำส้ม น้ำมะเขือเทศ กาแฟ
- งดสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้เกิดกรดมากขึ้น และแผลในหลอดอาหารหายช้าลง
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารมากเกินใน 1 มื้อ กินแต่พออิ่ม และเลือกกินอาหารที่ย่อยง่าย
- ใส่เสื้อผ้าหลวมๆ เสื้อผ้ารัดๆจะทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้มากขึ้น
- ไม่ควรนอนออกกำลังกาย
- นอนเตียงที่หนุนขาเตียงยกศรีษะสูงขึ้น 15 cm (ไม่ใช่การนำหมอนมาซ้อนกันสูงๆนะคะ เพราะจะทำให้ความดันในช่องท้องสูงขึ้น)
- ลดน้ำหนักสำหรับผู้มีภาวะอ้วน (เพราะภาวะอ้วนจะทำให้มีความดันในช่องท้องสูงขึ้น โอกาสเกิดกรดไหลย้อนจึงสูงขึ้นด้วย
กลุ่มยาที่ใช้ในการรักษาโรคกรดไหลย้อน
- ยาลดกรด (Antacids) ที่มีส่วนประกอบของ Aluminium hydroxide และ Magnesium hydroxide เพื่อช่วยในการสะเทินกรด ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก
- ยาในกลุ่ม Proton pump inhibitor ใช้เพื่อยับยั้งการหลั่งกรด เช่น Omeprazole, Lansoprazole, Pantoprazole, Rabeprazole, Esomeprazole
- ยาในกลุ่ม Histamine receptor type-2 antagonists ใช้เพื่อยับยั้งการหลั่งกรด เช่น Cimetidine, Ranitidine, Famotidine
อ้างอิง : แนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคกรดไหลย้อนในประเทศไทย
http://www.gastrothai.net/th/guideline-detail.php?content_id=31