บทความนี้ตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อผู้ป่วยไมเกรนโดยเฉพาะ หากใครกำลังเป็นไมเกรนอยู่อย่าเพิ่งเลื่อนผ่านค่ะ อ่านก่อนนะคะ!!!
เหตุผลที่เขียนบทความนี้ขึ้น เพราะมีผู้ป่วยหลายคนใช้ยาในกลุ่ม เออร์โกตามีน (ERGOTAMINES) แบบผิดๆ คือ กินทุกวันเพื่อป้องกันไมเกรน ซึ่งต้องบอกเลยว่าผิด และอันตรายมาก!!! ห้ามทำแบบนี้โดยเด็ดขาด เพราะอะไรเดี๋ยวเราจะเล่าต่อไป และสิ่งที่ต้องทราบคือ ยาในกลุ่มนี้ไม่ใช่ยาตัวแรกที่ท่านจะใช้ในการรักษาไมเกรน แต่ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับโรคไมเกรน และยากลุ่มนี้กันก่อน
ไมเกรน เป็นโรคที่พบในเพศหญิงได้บ่อยกว่าเพศชาย อาการปวดไมเกรนจะเป็นอาการปวดแบบตุ๊บๆ เป็นจังหวะ ระดับความปวดปานกลางถึงมาก ระยะเวลาปวดยาวนาน 4 – 72 ชั่วโมงหากไม่ได้รักษา มักจะปวดหัวข้างเดียว (จะปวด 2 ข้าง ก็ได้ แต่เจอน้อยกว่า) อาจจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย ร่างกายมีความไวต่อแสง เสียง และการเคลื่อนไหว
บางคนมีอาการนำมาก่อน เช่น การมองเห็นผิดปกติ เห็นแสงวูบวาบ เห็นแสงเป็นเส้น รู้สึกชารู้สึกเหมือนเข็มตำ เกิดก่อนจะมีอาการปวดศรีษะแบบไมเกรนตั้งแต่ 5-60 นาที กลุ่มนี้จะชื่อเรียกเฉพาะว่า ผู้ป่วย Migraine with aura
Ergotamine คืออะไร?
Ergotamine เป็นสารในกลุ่ม Ergot alkaloid ที่มีโครงสร้างคล้ายสร้างสื่อประสาทหรือฮอร์โมนในร่างกายหลายชนิด เช่น noradrenaline, adrenaline, dopamine และ serotonin ด้วยเหตุนี้ Ergotamine จึงจับกับตัวรับของสารสื่อประสาทได้หลายชนิด มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่ค่อนข้างซับซ้อน
กลไกในการรักษาอาการปวดศรีษะแบบไมเกรนนั้น สันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นตัวรับ serotonin และ noradrenaline ทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดในสมอง ซึ่งเป็นกลไกหลักของยา และนอกจากนี้ยังพบว่าอาจเกี่ยวข้องกับการที่ยามีผลปรับเปลี่ยนการทำงานของหลอดเลือดที่ควบคุมโดยเส้นประสาท trigeminal และลดความรุนแรงของการอักเสบของเนื่อเยื่อ Dura ซึ่งเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับพยาธิสภาพของไมเกรน
ตัวอย่าง ชื่อการค้าของยาที่มีส่วนผสมของ Ergotamine เช่น Cafergot, Avamigran, Degran, Tofago, Polygot ฯลฯ
อันตรายของ Ergotamine เกิดได้อย่างไร? หากใช้พร่ำเพรื่อ ใช้เกินขนาด ข้อนี้ต้องอ่านค่ะ !!!
- ปลายมือ ปลายเท้า เย็น-ชา หากมีอาการรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อแขนขา ให้หยุดยาและรีบไปพบแพทย์ทันที ที่เคยเป็นข่าวว่าต้องตัดแขน ตัดขา เพราะกล้ามเนื้อตายก็นี่แหละค่ะ เนื่องจากยาไม่เพียงแต่หดหลอดเลือดที่สมองเพื่อรักษาไมเกรนแค่นั้น แต่ไปหดหลอดเลือดที่อวัยวะอื่นด้วย ซึ่งพบบ่อยที่สุด คือ ไปหดหลอดเลือดแดงบริเวณแขน ข้อมือ ท่อนขาส่วนบน หลังข้อเข่า สะโพก หัวใจ ไต ลำไส้ ตา และลำคอ
- ความดันโลหิตสูง จากการที่ยามีผลไปหดหลอดเลือดส่วนปลาย
- ใจสั่น เจ็บหน้าอก จากการกระตุ้นตัวรับ 5-HT1B ที่บริเวณหลอดเลือด coronary ที่หัวใจ
- คลื่นไส้อาเจียน จากการที่ยาไปกระตุ้นตัวรับ Dopamine ที่ศูนย์การอาเจียนในสมอง และยังพบว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับการที่ Ergotamine สามารถกระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบได้โดยตรง

ใช้ยา Ergotamine อย่างไรให้ปลอดภัย?
ใช้เฉพาะเมื่อมีอาการปวดศรีษะไมเกรนเท่านั้น ห้ามใช้เพื่อป้องกัน เพราะการกินยาติดต่อกันไปเรื่อยๆ จะทำให้เกิดความดันโลหิตสูง เพิ่มความเสี่ยงหลอดเลือดในสมองแตก หรือ หัวใจวายได้ โดยเฉพาะหากมีความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมองอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังทำหลอดเลือดแดงเกิดการหดตัวอยู่ตลอดเวลาซึ่งผู้ป่วยจะไม่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนเลย แต่เมื่อใดที่หยุดรับประทานยาหลอดเลือดดังกล่าวจะขยายตัวอย่างมาก และทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนอย่างรุนแรง (rebound headache ) ได้ค่ะ
ขนาดการกินยาที่เหมาะสม คือ กินเมื่อมีอาการปวดศีรษะไมเกรนในครั้งแรก 1 หรือ 2 เม็ด หากอาการไม่ดีขึ้นสามารถกินซ้ำอีกครั้งละ 1 เม็ด ทุกๆ 30 นาที แต่ห้ามกินยาเกิน 6 เม็ดต่อวัน และห้ามกินยาเกิน 10 เม็ด ต่อสัปดาห์
เมื่อมีอาการปวดศรีษะไมเกรน แจ้งแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งว่ามีโรคประจำตัวหรือมียาอะไรบ้างที่กำลังใช้อยู่ หรือมียาอะไรบ้างที่ใช้เป็นประจำ เพราะยา Ergotamine เกิดอันตรกิริยา (ยาตีกัน) กับยาอื่นๆได้หลายตัว เนื่องจาก Ergotamine จะถูกกำจัดผ่าน CYP3A4 ดังนั้นหากกินยานี้ร่วมกับยาบางตัวที่ยับยั้งการทำงานของ CYP3A4 (CYP3A4 inhibitor) เช่น ยาต้านเชื้อไวรัส : ritonavir, indinavir , ยาปฏิชีวนะกลุ่ม macrolides : erythromycin, clarithromycin, azithromycin, ยาต้านเชื้อรากลุ่ม azoles : ketoconazole, itraconazole, fluconazole, ยากดภูมิคุ้มกัน : Ciclosporin, tacrolimus จะส่งผลให้มีปริมาณยา ergotamine ที่ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดเพิ่มขึ้น และ ขจัดออกจากร่างกายได้ช้าลง ซึ่งผลที่ตามมาคือความเข้มข้นของ ergotamine ในเลือดเพิ่มสูงขึ้นและคงอยู่นานขึ้น จนเกิดอาการไม่พึงประสงค์ และที่เรากังวลที่สุดก็คือ การไหลเวียนของเลือดลดลง จนกล้ามเนื้อตาย เน่าจนต้องตัดแขน ตัดขาทิ้งนั่นเองค่ะ
ยาอีกกลุ่มที่ไม่ควรใช้ร่วมกับยา Ergotamine เนื่องจากยาจะไปเสริมฤทธิ์ในการหดหลอดเลือดและเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น ยารักษาไมเกรนในกลุ่ม triptans : zolmitriptan, rizatriptan, sumatriptan, ยาที่ป้องกันการเกิดไมเกรน เช่น methysergide, propranolol เป็นต้น
ใครห้ามใช้ ergotamine?
- ผู้ที่มีประวัติแพ้ยา ergotamine หรือสารที่เป็นอนุพันธ์ของ ergot alkaloid
- ผู้ป่วยที่มีประวัติหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน (peripheral arterial disease)
- ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องในการทำงานของตับ และไต
- ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary artery disease) และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (angina)
- ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ยังควบคุมไม่ได้
- ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด (sepsis)
- ผู้หญิงตั้งครรภ์ (ทุกไตรมาส)
จะป้องกันการเกิดไมเกรนได้อย่างไร?
- หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดไมเกรน เช่น แอลกอฮอล์, คาเฟอีน, ผงชูรส, อาหารหมักดอง, อาหารที่มีส่วนผสมของไนเตรท, อาหารที่มีส่วนผสมของสารให้ความหวาน เช่น saccharin, aspartame
- หลีกเลี่ยงสภาวะแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดไมเกรน เช่น เสียงดัง อากาศร้อน สถานที่ที่มีกลิ่นฉุน สถานที่ที่มีกลิ่นน้ำหอมรุนแรง ควันบุหรี่ บริเวณที่มีแสงวิบๆวับๆ แสบตา
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
- กินอาหารให้ครบทุกมื้อ ตรงเวลา
- พยายามผ่อนคลายความเครียดและวิตกกังวล
- ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ และไม่หักโหมจนเกินไป
- ใช้ยาป้องกันการเกิดไมเกรนในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการปวดหัวไมเกรนอย่างน้อย 6 วันต่อเดือน หรือผู้ป่วยที่มีอาการปวดหัวไมเกรนอย่างน้อย 4 วันต่อเดือน ร่วมกับเกิดความผิดปกติหรือรบกวนชีวิตประจำวัน หรือผู้ป่วยที่มีอาการปวดหัวไมเกรนอย่างน้อย 3 วันต่อเดือน ร่วมกับการที่ผู้ป่วยจะต้องนอนพักผ่อน โดยปรึกษาแพทย์ในการใช้ยา
การใช้ยาในการรักษาไมเกรน
ยาตัวเลือกแรกๆ (First-Line Therapies) ในการรักษาไมเกรน คือ ยาในกลุ่ม NSAIDs เช่น Ibuprofen, Naproxen, ยาแก้ปวดสูตรผสม พาราเซตามอล 250 mg + Aspirin 250 mg + Caffeine 65 mg 1-2 เม็ด ทุกๆ 6 ชั่วโมง, ยาในกลุ่ม Triptans หรือ Combination Triptans-NSAIDs หากมีอาการปวดมาก
ส่วน ยา Ergotamine จัดเป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาไมเกรน แต่ไม่ใช่ทางเลือกแรกในการรักษา จะใช้ในกรณีที่ใช้ยากลุ่มแก้ปวดทั่วไปแล้วไม่ได้ผล
อ้างอิง
- American Family Physician, Treatment of Acute Migraine Headache
- คู่มือการดูแลผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชสําหรับแพทย์. บทที่ 10 อาการปวดศรีษะ. มาโนช หล่อตระกูล บก. กรมสุขภาพจิต, 2544
- Kulkantrakorn, Kongkiat. (2015). Chronic daily headache review (Article in Thai). Thammasat Medical Journal.
- Canadian Headache Society Guideline Acute Drug Therapy for Migraine Headache, A Peer-reviewed SUPPLEMENT to The Canadian Journal of Neurological Sciences, Volume 40 Number 5 (Supplement 3) September 2013
- Canadian Headache Society Guideline for Migraine Prophylaxis, A Peer-reviewed SUPPLEMENT to The Canadian Journal of Neurological Sciences, Volume 39 Number 2 (Supplement 2) March 2012
- คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ยาแก้ปวดศีรษะไมเกรน Ergotamine ใช้อย่างไรจึงจะปลอดภัย
- Elizabeth Loder, MD, MPH; Rebecca Burch, MD; Paul Rizzoli, MD , The 2012 AHS/AAN Guidelines for Prevention of Episodic Migraine: A Summary and Comparison With Other Recent Clinical Practice Guidelines, American Headache Society, Headache 2012;52:930-945
- ภก.กิติยศ ยศสมบัติ, ภญ.สิรินุช พละภิญโญ และ ภก.ชัชนินทร์ อจลานนท์, ภาวะเออร์โกติสซึมจากยาเออร์โกตามีน.
Credit รูป : https://www.youtube.com/watch?v=rafAgW0TKeY