วัคซีนถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อป้องกันโรค ให้คนบนโลกมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ไม่ป่วย ไม่ตาย ไม่พิการ จากโรคที่ป้องกันได้ จะเห็นได้ว่าโรคที่มีวัคซีนป้องกันนั้น มักจะเป็นโรคที่เป็นแล้วอัตราการตายสูง รักษาได้ยากหรือไม่มีวิธีการรักษา หรือไม่ก็รักษาหายแล้วแต่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือความพิการที่เกิดจากโรคนั้น หรือไม่อย่างนั้นค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคนั้นก็อาจสูงมาก ทำให้การฉีดวัคซีนป้องกันไว้เป็นเรื่องที่คุ้มค่ากว่า อีกกรณีหนึ่งคือโรคนั้นอาจเป็นโรคระบาดที่หากเกิดการระบาดขึ้นแล้ว จะควบคุมได้ยาก เช่น โรคไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์
จากเหตุผลดังกล่าว การจัดหาวัคซีนให้ประชาชนในประเทศจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเป็นการช่วยคุ้มครองและรักษาชีวิตคนในประเทศ ทั้งนี้ แต่ละประเทศก็มีวัคซีนพื้นฐานที่จัดหาให้ประชาชนในประเทศแตกต่างกันไป เนื่องจากแต่ละประเทศก็โรคที่เป็นปัญหาสำคัญแตกต่างกันออกไป อาทิ เช่น อังกฤษ ไม่มีการแนะนำให้ฉีด BCG Vaccine (ป้องกันวัณโรค) อีกแล้ว เนื่องจากไม่มีการระบาดของโรคนี้มานานมาก แต่หากเป็นเด็กต่างชาติที่เกิดในอังกฤษ อังกฤษจะแนะนำให้ฉีด
สำหรับประเทศไทยมีวัคซีนที่ฉีดให้เด็ก 2 แบบ คือ
- วัคซีนพื้นฐาน เป็นวัคซีนที่รัฐบาลจัดหาให้เด็กทุกคนฉีดฟรี ประกอบไปด้วย
1.1 BCG Vaccine ป้องกันวัณโรค
1.2 วัคซีนตับอักเสบบี (HBV)
1.3 วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ชนิดทั้งเซลล์ (DTwP)
1.4 วัคซีนโปลิโอชนิดกิน (OPV)
1.5 วัคซีน หัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (MMR)
1.6 วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีแบบเชื้อเป็น (Live JE)
1.8 วัคซีนมะเร็งปากมดลูก (HPV)
1.9 วัคซีนฮิป (กำลังบรรจุ ประกาศเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2561 เริ่มฉีดงบประมาณปี 2562) - วัคซีนทางเลือกอื่นๆ ที่อาจให้เสริม หรือทดแทน เป็นวัคซีนที่เป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพดี ควรที่จะได้รับการฉีด แต่ต้องเสียเงินฉีดเอง
2.1 วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ชนิดไม่มีเซลล์ (DTaP, Tdap หรือ TdaP)
2.2 วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด (IPV)
2.3 วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีแบบเชื้อตาย (Inactivated JE)
2.4 วัคซีนตับอักเสบเอ (HAV)
2.5 วัคซีนอีสุกอีใส (VZV)
2.6 วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
2.7 วัคซีนนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต (PCV)
2.8 วัคซีนโรต้า (Rota)
2.9 วัคซีนไข้เลือดออก (DEN)
เคยมีคนกล่าวไว้ว่า “ถ้าอยากรู้ว่าประเทศไหนสนใจความเป็นอยู่ของประชากร ให้ดูว่าประเทศนั้นจัดวัคซีนฟรีให้ประชาชนมากน้อยเพียงใด”
ประเทศไทย เป็นประเทศหนึ่งที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมาก เนื่องจากสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของรัฐ ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราบรรจุวัคซีนพื้นฐานได้ช้ากว่าประเทศอื่นๆ (เพราะไม่มีตัง) อย่างล่าสุด วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา เราบรรจุวัคซีนฮิบ เป็นวัคซีนพื้นฐานแล้ว แต่ก็ถือว่ามาช้ามาก เนื่องจากไทยเป็นประเทศสุดท้ายในโลกที่บรรจุวัคซีนนี้เป็นวัคซีนพื้นฐานค่ะ
เวลาจะบรรจุวัคซีนเป็นวัคซีนพื้นฐานสักชนิดนึง จะเริ่มจากผู้เชี่ยวชาญเสนอทฤษฎีความจำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีนนั้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมักเป็นอาจารย์แพทย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องโรคติดเชื้อ จะมองที่ประโยชน์ของผู้ได้รับวัคซีนเป็นหลัก จากนั้นจะพิจารณาโดยคณะผู้บริหาร ซึ่งคณะผู้บริหารจะมองที่ความคุ้มค่า และตัวเลขเงินงบประมาณเป็นหลัก ยกตัวอย่างนะคะ
ผู้เชี่ยวชาญเสนอให้เปลี่ยนวัคซีนโปลิโอจากแบบกินเป็นแบบฉีด เนื่องจากสามารถลดโอกาสการเป็นโปลิโอได้ แต่พอถึงผู้บริหาร ผู้บริหารจะมองว่า โอกาสเกิดมันน้อยมาก เอาเงินที่เปลี่ยนจากแบบกินเป็นฉีด ไปดูแลเด็กที่พิการ คุ้มกว่า อะไรแบบนี้ค่ะ