ยาประคบเป็นยาเตรียมแผนโบราณรูปแบบหนึ่ง ตำราโบราณให้วิธีการปรุงยาเตรียมรูปแบบนี้ไว้ว่าเตรียมจาก “ยาสดหรือแห้ง ประสมแล้ว ทำเป็นลูกประคบ” โดยการนำสมุนไพรหลายชนิดที่เป็นสมุนไพรสดหรือสมุนไพรแห้ง ผ่านกระบวนการทำความสะอาด นำมาหั่นให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ นำไปตำให้พอแหลกก่อนนำไปบรรจุรวมกันในผ้าให้เป็นรูปทรงต่างๆ ตามวัตถุประสงค์และตำแหน่งที่ต้องการใช้ลูกประคบ เช่น รูปทรงกลม ใช้ประคบส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทรงหมอนใช้นาบบริเวณที่ต้องการ
ยาประคบ ใช้ประคบส่วนต่าง ๆ ของร่างกายควบคู่กับการนวดแผนไทย เพื่อรักษาและบรรเทาอาการเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น โดยสมุนไพรและความร้อนจากลูกประคบนั้น ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดอาการอักเสบ แก้ปวดเมื่อย และยังทำให้รู้สึกสดชื่นจากกลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหยอีกด้วย
อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำลูกประคบ
- ผ้าสำหรับห่อสมุนไพรลูกประคบ ต้องเป็นผ้าฝ้ายหรือผ้าดิบที่มีเนื้อแน่นพอดี สามารถป้องกันไม่ให้สมุนไพรร่วงออกมาจากผ้าได้
- เชือกสำหรับมัดผ้าห่อลูกประคบ
- สมุนไพรที่ใช้ต้องผ่านการทำความสะอาด ไม่มีเชื้อรา และต้องมีสมุนไพร 4 กลุ่มหลัก ดังนี้
3.1 กลุ่มสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหย เช่น ไพล ขมิ้นชัน ตะไคร้ มะกรูด
3.2 กลุ่มสมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ เช่น ใบมะขาม ใบส้มป่อย
3.3 กลุ่มสารแต่งกลิ่นหอม เช่น การบูร พิมเสน
3.4 เกลือ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อและแก้อาการอักเสบได้ มีสมบัติดูดความร้อนทำให้ตัวยาสมุนไพรซึมได้เร็วขึ้น
กระบวนการผลิตลูกประคบ
- นำสมุนไพรมาล้างทำความสะอาด หั่นเป็นชิ้นให้ได้ขนาดที่ต้องการ
- นำสมุนไพรไปตำให้พอแหลก
- เติมเกลือและการบูรลงไป ผสมให้เข้ากัน ระวังอย่าให้สมุนไพรที่ผสมแฉะเป็นน้ำ
- นำสมุนไพรที่ผสมเรียบร้อยแล้ว ไปบรรจุในผ้าฝ้ายหรือผ้าดิบ ห่อเป็นลูกประคบมัดด้วยเชือกให้แน่น
ที่มา
- หนังสือรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ ฉบับ พ.ศ.2564, กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, กระทรวงสาธารณสุข