ภาคผนวกนี้เป็นบัญชีคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แผนไทย โรคหรืออาการทางการแพทย์แผนไทย รวมทั้งศัพท์ทางเภสัชกรรมไทยที่กล่าวถึงในรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาตินี้ เพื่อช่วยให้ผู้อ่านได้ศึกษาเพิ่มเติม และทำความเข้าใจคำศัพท์ที่เป็นภาษาไทยดั้งเดิมที่ใช้ในคัมภีร์หรือตำราแพทย์แผนไทยของชาติด้วยการให้ความหมายเป็นภาษาไทยที่ใช้ในปัจจุบัน
หมวด ก
คำศัพท์ | ความหมาย |
---|---|
กระษัย, กระไษย์ | ดู กษัย. |
กระสาย, กระสายยา | น. เครื่องแทรกยา เช่น น้ำ เหล้า น้ำผึ้ง น้ำดอกไม้ ในทางเภสัชกรรมแผนไทยใช้แทรกยาเพื่อช่วยให้กินยาง่ายขึ้น และ/หรือเสริมฤทธิ์ของยาให้มีสรรพคุณดีขึ้น,หากเป็นของเหลวมักเรียก น้ำกระสาย หรือ น้ำกระสายยา. (ส.กษาย). |
กระไสย | ดู กษัย. |
กล่อนลงฝัก | น. โรคเกิดเพราะเส้นเลื่อนลงสู่ถุงอัณฑะ ทำให้ถุงอัณฑะโต ปัสสาวะขัด เป็นต้น. |
กวาด, กวาดยา | ก. เอายาป้ายในปาก คอ ลิ้นของทารกและเด็ก โดยใช้นิ้วหมุนโดยรอบ มักใช้นิ้วชี้. |
กษัย | น. โรคกลุ่มหนึ่ง เกิดจากความเสื่อมหรือความผิดปรกติของร่างกายจากความเจ็บป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา หรือรักษาแล้วไม่หาย ทำให้ร่างกายซูบผอม กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรัดตึง โลหิตจาง ผิวหนังซีดเหลือง ไม่มีแรง มือเท้าชา เป็นต้น ตำราการแพทย์แผนไทยแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ๆ ตามสาเหตุของการเกิดโรค คือ กษัยที่เกิดจากธาตุสมุฏฐาน (มี ๘ ชนิด ได้แก่ กษัยกล่อน ๕ ชนิด กับกษัยน้ำ กษัยลม และกษัยเพลิง) กับกษัยที่เกิดจากอุปปาติกะโรค (มี ๑๘ ชนิด ได้แก่ กษัยล้น กษัยราก กษัยเหล็ก กษัยปู กษัยจุก กษัยปลาไหล กษัยปลาหมอ กษัยปลาดุก กษัยปลวก กษัยลิ้นกระบือ กษัยเต่า กษัยดาน กษัยท้น กษัยเสียด กษัยเพลิง กษัยน้ำ กษัยเชือก และกษัยลม), เขียนว่า กระษัย กระไษย์ กระไสย หรือ ไกษย ก็มี. |
กษัยกล่อน | น. โรคกษัยกลุ่มหนึ่ง เกิดจากความผิดปรกติของธาตุทั้ง ๔ ตำราการแพทย์แผนไทยแบ่งออกเป็น ๕ ชนิด คือ กษัยกล่อนดิน กษัยกล่อนน้ำ กษัยกล่อนลม กษัยกล่อนไฟ และกษัยเถา. |
กษัยกล่อนน้ำ | น. กษัยกล่อนชนิดหนึ่ง เกิดจากความผิดปรกติของธาตุน้ำ ได้แก่ เลือด น้ำเหลือง หรือเสมหะ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้ง ๓ อย่าง เป็นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง รักษายาก ผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บปวดมากบริเวณยอดอก อาจลามถึงตับและหัวใจได้, กษัยเลือด หรือ กษัยโลหิต ก็เรียก. |
กษัยกล่อนไฟ | น. กษัยกล่อนชนิดหนึ่ง เกิดจากความผิดปรกติของธาตุไฟ เป็นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง รักษายาก ผู้ป่วยมักมีอาการจุกเสียด แน่นหน้าอกมาก ร้อนอยู่ภายใน เหงื่อออกมาก เบื่ออาหาร เจ็บบริเวณยอดอกอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่รุนแรง ตาแดง มีไข้ตอนบ่าย อาจมีอาการบวมที่ใบหน้า ท้อง หรือเท้า หากมีอาการบวมพร้อมกันทั้ง 3 แห่ง จะรักษาไม่ได้. |
กษัยกล่อนลม | น. กษัยกล่อนชนิดหนึ่ง เกิดจากความผิดปรกติของธาตุลม เป็นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง รักษายาก ผู้ป่วยมักมีอาการจุกเสียดแน่นในท้อง ปวดท้อง ร้อนภายในทรวงอก แต่ตัวเย็น เป็นต้น |
กษัยดาน | น. กษัยอันเกิดจากอุปปาติกะโรคชนิดหนึ่ง เกิดที่ยอดอก ทำให้กล้ามเนื้อตั้งแต่ยอดอกถึงหน้าท้องแข็งมาก ผู้ป่วยมีอาการปวด จุกเสียดแน่น กินข้าวไม่ได้ ถ้าลามลงถึงท้องน้อย ทำให้ปวดอยู่ตลอดเวลา ถูกความเย็นไม่ได้ แต่ถ้าลามลงไปถึงหัวหน่าวจะรักษาไม่ได้. |
กษัยเถา | น. กษัยกล่อนชนิดหนึ่ง เกิดจากความผิดปรกติของลมสันฑฆาตและลมปัตฆาตซึ่งทำให้เส้นพองและแข็งอยู่บริเวณหัวหน่าวไปจนถึงหลัง ผู้ชายจะเกิดทางด้านขวา ส่วนผู้หญิงจะเกิดทางด้านซ้าย รักษายาก ผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บปวดในทรวงอกและปวดเสียวจนถึงบริเวณต้นคอ ปัสสาวะเป็นเลือด เป็นต้น. |
กษัยลม | น. กษัยอันเกิดจากอุปปาติกะโรคชนิดหนึ่ง เกิดจากลมในร่างกายผิดปรกติ ลมทั่วร่างกายมารวมกันที่เหนือสะดือ ผู้ป่วยมีอาการจุกเสียด แน่นหน้าอกมาก หายใจขัด กินอาหารไม่ได้ เสียวแปลบทั่วร่างกายคล้ายถูกเข็มแทง. |
กษัยเลือด, กษัยโลหิต | ดู กษัยกล่อนน้ำ. |
กษัยเส้น | น. ความผิดปรกติที่เกิดในกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ทำให้มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ท้องผูก อ่อนเพลีย เป็นต้น. |
กษัยเหล็ก | น. กษัยอันเกิดจากอุปปาติกะโรคชนิดหนึ่ง เกิดจากลมอัดแน่นแข็งเป็นดานอยู่ในท้องน้อย ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวด ท้องแข็งลามขึ้นไปถึงยอดอก กินอาหารไม่ได้ เป็นต้น. |
กุจฉิสวาตอติสาร | น. ปัจจุบันกรรมอติสารชนิดหนึ่ง ตำราการแพทย์แผนไทยว่า เกิดจากลมกุจฉิสยาวาตารวมกันเป็นก้อนในท้องอยู่นอกลำไส้ ผู้ป่วยจะไม่มีอาการปวดมวนในท้องอุจจาระไหลออกมาเอง และมีกลิ่นเหม็นคาว. |
โกฏฐาสยาวาตา | น. ลมพัดในลำไส้และกระเพาะอาหาร เป็นองค์ประกอบ 1 ใน 6 ชนิดของธาตุลม. |
ไกษย | ดู กษัย. |
หมวด ข
คำศัพท์ | ความหมาย |
---|---|
ขับ | ก. บังคับให้ออก เช่น ขับน้ำคาวปลา ขับลม ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ. |
ไข้ | ๑. น. ความเจ็บป่วยทางกายหรือทางจิต เช่น ไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้เหนือ ไข้หวัด นอกจากนี้ ในทางการแพทย์แผนไทยยังมีไข้ตัวเย็นอันเกิดจากธาตุไฟพิการ. ๒. ก. อาการครั่นเนื้อครั่นตัว สะบัดร้อนสะท้านหนาว ปวดเมื่อย, โดยทั่วไปหมายถึง อาการที่มีอุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นผิดจากระดับปรกติเนื่องจากความเจ็บป่วย. |
ไข้กาล, ไข้กาฬ | ๑. น. โรคกลุ่มหนึ่ง ผู้ป่วยมักมีไข้ มีเม็ดขึ้นตามอวัยวะภายใน เช่น ปอด ตับ ม้าม แล้วผุดออกมาที่ผิวหนัง เป็นเม็ดสีดำ สีเขียว สีคราม หรือเป็นเม็ดทราย เป็นแผ่น เป็นวงทั่วตัว ทำให้เกิดอาการแตกต่างกันไป ตำราการแพทย์แผนไทยแบ่งออกเป็น 10 ชนิด ได้แก่ ไข้ประกายดาษ ไข้ประกายเพลิง หัด เหือด งูสวัดเริมน้ำค้าง เริมน้ำข้าว ลำลาบเพลิง ไฟลามทุ่ง และกำแพงทะลาย. ๒. น. ชื่อโรคกลุ่มหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการไข้สูง และมีเม็ดผื่นขึ้นตามร่างกาย ได้แก่ ไข้ประดง ไข้กระโดง และไข้รากสาด. |
ไข้จับสั่น, ไข้ดอกบวบ, ไข้ดอกสัก | ดู ไข้ป่า. |
ไข้ตามฤดู | ดู ไข้เปลี่ยนฤดู. |
ไข้ทับระดู | น. อาการไข้ขณะที่กำลังมีระดูหรือระดูเพิ่งหยุด อาการอาจรุนแรงถึงตายได้. |
ไข้ประดง | ดู ประดง. |
ไข้ประดงลม | ดู ประดงลม. |
ไข้ป่า | น. โรคชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการไข้สูงมากเป็นเวลา ส่วนใหญ่มักมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการปวดศีรษะ มือและเท้าเย็น มีเหงื่อออกมากกระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย หากเป็นติดต่อกันหลายวันไม่หาย ผู้ป่วยจะซีดเบื่ออาหาร ตับโต ม้ามโต เป็นต้น โบราณเรียก ไข้ป่า เนื่องจากผู้ป่วยมักเป็นโรคนี้หลังกลับออกมาจากป่า, ไข้จับสั่น (ผู้ป่วยมักมีอาการหนาวสั่น) ไข้ดอกสัก (ผู้ป่วยมักเป็นโรคนี้ในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงที่ดอกสักบาน) หรือ ไข้ดอกบวบ ก็เรียก. |
ไข้เปลี่ยนฤดู | น. โรคชนิดหนึ่ง มักเกิดขึ้นในช่วงรอยต่อของแต่ละฤดู ผู้ป่วยมักมีไข้ สะบัดร้อน สะท้านหนาว กระหายน้ำ เป็นต้น ในทางการแพทย์แผนไทยอาจแบ่งโรคนี้ตามฤดูกาล เป็น 3 ประเภท ได้แก่ ไข้ในฤดูร้อน ไข้ในฤดูฝน และไข้ในฤดูหนาว, ไข้ตามฤดู ไข้สามฤดู ไข้หัวลม หรือ อุตุปริณามชาอาพาธา ก็เรียก. |
ไข้พิษไข้กาฬ | น. โรคกลุ่มหนึ่งที่มีอาการรุนแรง ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะ ตัวร้อนจัด ปากแห้ง ฟันแห้ง น้ำลายเหนียว ตาแดง ร้อนในกระหายน้ำ มือเท้าเย็น มีเม็ดสีดำ แดง หรือเขียว ขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้างผุดขึ้นตามร่างกาย ตำราการแพทย์แผนไทยแบ่งออกเป็น 21 ชนิด โดยเรียกชื่อแตกต่างกันตามลักษณะอาการ เช่น ไข้อีแดง ไข้ปานดำ |
ไข้มะเร็ง | ดูใน มะเร็ง. |
ไข้รากสาด | น. ไข้กาฬกลุ่มหนึ่ง ผู้ป่วยอาจมีอาการตัวร้อนจัด มือเท้าเย็น ปวดศีรษะมาก ตาแดง เพ้อ มือกำเท้ากำ ตาเหลือกตาซ้อน หรืออาจมีอาการตัวเย็น เหงื่อออกมาก แต่ร้อนภายใน หอบ สะอึก ลิ้นกระด้างคางแข็ง เชื่อมมัว ไม่มีสติ นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการถ่ายเป็นเลือด ไอเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด เป็นต้น ตำราการแพทย์แผนไทยแบ่งไข้รากสาดออกเป็น 9 ชนิด เรียกชื่อแตกต่างกันไปตามลักษณะอาการที่ปรากฏให้เห็นทางผิวหนัง ได้แก่ ไข้รากสาดปานแดง ไข้รากสาดปานดำ ไข้รากสาดปานเขียว ไข้รากสาดปานเหลือง ไข้รากสาดปานขาว ไข้รากสาดปานม่วง ไข้รากสาดนางแย้ม ไข้รากสาดพะนันเมือง และไข้รากสาดสามสหาย, ไข้ลากสาด ก็เรียก. |
ไข้รำเพรำพัด, ไข้ลมเพลมพัด | โรคชนิดหนึ่ง มักไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยมีอาการแตกต่างกันออกไป เช่น อาจมีไข้ จุกเสียดในท้อง อาเจียน ละเมอเพ้อพก, รำเพรำพัด หรือ ลมเพลมพัด ก็เรียก. |
ไข้ลากสาด | ดู ไข้รากสาด. |
ไข้สันนิบาต | ดู สันนิบาต. |
ไข้สามฤดู | ดู ไข้เปลี่ยนฤดู. |
ไข้หัด | ดู ไข้ออกหัด. |
ไข้หัดหลบใน | ดูใน ไข้ออกหัด. |
ไข้หัวลม | ดู ไข้เปลี่ยนฤดู. |
ไข้เหือด | ดู ไข้ออกเหือด. |
ไข้ออกหัด | น. ไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีไข้ สะบัดร้อนสะท้านหนาว เชื่อมมัว ปวดศีรษะหลังจากนั้นจะมีเม็ดคล้ายเม็ดทรายยอดแหลมผุดขึ้นทั่วตัว หากไม่มีเม็ดยอดผุดขึ้นมาโบราณเรียก หัดหลบ หรือ ไข้หัดหลบใน ผู้ป่วยมีอาการท้องเสีย เป็นต้น,ไข้หัด ก็เรียก. |
ไข้ออกเหือด | น. ไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการคล้ายไข้ออกหัด แต่เม็ดที่ผุดขึ้นทั่วตัวยอดไม่แหลม, ไข้เหือด ก็เรียก. |
หมวด ฆ
คำศัพท์ | ความหมาย |
---|---|
ฆานโรโค, ฆานะโรโค | น. ริดสีดวงประเภทหนึ่ง เกิดในจมูก ผู้ป่วยจะหายใจขัด มีเม็ดขึ้นในจมูก เมื่อเม็ดนั้นแตกจะทำให้ปวดแสบปวดร้อนมาก น้ำมูกไหลอยู่ตลอดเวลา ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น เป็นต้น, ริดสีดวงจมูก ก็เรียก. |
หมวด จ
คำศัพท์ | ความหมาย |
---|---|
จุก | ก. อาการที่บังเกิดแน่นอยู่ในอกหรือในท้อง เช่น กินมากจนจุก. |
เจริญอาหาร | ๑. ก. บริโภคอาหารได้มากขึ้น. ๒ ว. เกี่ยวกับการบริโภคอาหารได้มาก เกี่ยวกับความรู้สึกอยากอาหาร เช่น ยาเจริญอาหาร. |
หมวด ช
คำศัพท์ | ความหมาย |
---|---|
ชโลม | ก. ทำให้เปียกชุ่ม ในทางการแพทย์แผนไทย ใช้ผ้าชุบน้ำยาแล้วเช็ดตัวให้เปียก เช่น ชโลมยา ชโลมน้ำ. |
ช้ำรั่ว | น. โรคทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์กลุ่มหนึ่ง เกิดกับผู้หญิง ผู้ป่วยมีอาการปวดแสบปวดร้อนภายในช่องคลอดและช่องทวารเบา กลั้นปัสสาวะไม่อยู่เจ็บและขัดถึงบริเวณหัวหน่าว ตำราการแพทย์แผนไทยว่า อาจเกิดจากสาเหตุ 4 ประการ ได้แก่ 1) เกิดจากการคลอดบุตรแล้วอยู่ไฟไม่ได้ ทำให้เสมหะ โลหิตเดินไม่สะดวก มดลูกเน่า 2) เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์มากเกินไป 3) เกิดจากฝีในมดลูก ทำให้มีหนองหรือน้ำเหลืองไหลออกมา และ 4) น้ำเหลือง ที่เกิดจากทางเดินปัสสาวะอักเสบไหลออกมา ทำให้เกิดแผลเปื่อยลามที่ทวารเบา ปัสสาวะไหลกะปริบกะปรอย ปวดแสบ ขัดหัวหน่าว. |
เชื่อม | 1. น. อาการอย่างหนึ่งของผู้ป่วยที่เป็นโรคบางชนิด มีลักษณะอาการหน้าหมอง ซึม มึนงง ตาปรือ คล้ายจะเป็นไข้ หรือเป็นอาการที่เกิดจากพิษไข้หรือพิษของโรคบางชนิด. 2. ว. มีอาการเงื่องหงอยมึนซึมคล้ายเป็นไข้ มักใช้ร่วมกับคำอื่นที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับอาการที่แสดงออกให้เห็นเด่นชัด ได้แก่ เชื่อมซึม เชื่อมมึน และเชื่อมมัว. |
เชื่อมมัว | ดูใน เชื่อม. |
เชื่อมมึน | ดูใน เชื่อม |
หมวด ซ
คำศัพท์ | ความหมาย |
---|---|
ซาง | น. โรคเด็กประเภทหนึ่ง มักเกิดในเด็กเล็ก ทำให้มีอาการตัวร้อน เชื่อมซึม ปากแห้ง อาเจียน กินอาหารไม่ได้ท้องเดิน มีเม็ดขึ้นในปาก คอ ลิ้นเป็นฝ้า เป็นต้น แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ซางเจ้าเรือน และ ซางจร ทั้งซางเจ้าเรือนและซางจร จะทำให้มีอาการแตกต่างกันตามวันเกิดของเด็ก, เขียนว่า ทราง ก็มี. |
ซางกำเนิด | ดู ซางเจ้าเรือน. |
ซางจร | น. ๑. ซางที่เกิดแทรกขึ้นระหว่างซางเจ้าเรือน ทำให้อาการรุนแรงขึ้น, ซางแทรกก็เรียก. ๒. ซางที่เกิดต่อเนื่องจากซางเจ้าเรือน ทำให้มีอาการรุนแรงขึ้น เช่น ซางกราย เป็นซางจรที่อาจเกิดต่อเนื่องจากซางเพลิง. |
ซางเจ้าเรือน | น. ซางที่เกิดกับทารกตั้งแต่อายุครรภ์ได้ 3 เดือน จนอายุได้ 5 ขวบ 6 เดือน, ซางกำเนิด ก็เรียก. |
ซางแทรก | ดู ซางจร. |
ซางฝ้าย | น. ซางจรชนิดหนึ่ง เกิดแทรกซางน้ำอันเป็นซางเจ้าเรือน ประจำเด็กเกิดวันจันทร์ ไม่มีแม่ซางเกิดขึ้นตามผิวหนังแต่ขึ้นที่เพดานปาก กระพุ้งแก้ม ไรฟัน และลิ้นเด็กที่เป็นโรคนี้จะมีอาการลิ้นเป็นฝ้าขาว มีไข้สูง ปากร้อน ปากแห้ง ไม่มีน้ำลายหุบปากไม่ลง กินอาหารไม่ได้ อาเจียน ท้องเดิน อุจจาระเหม็นเหมือนไข่เน่าเป็นต้น. ดู ซางจร ประกอบ. |
ซางเพลิง, ซางไฟ | น. ซางเจ้าเรือนประจำเด็กเกิดวันอาทิตย์ เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้จะเริ่มมีเม็ดยอดที่เป็นแม่ซาง 4 เม็ด เกิดที่บริเวณฝ่าเท้าเมื่ออายุได้ 7 วัน และมีเม็ดยอดที่เป็นบริวารอีก 40 เม็ด ขึ้นที่หน้าแข้งข้างละ 20 เม็ด ซึ่งอาจจะรักษาให้หายได้ใน 11 วัน แต่ถ้ารักษาไม่หายและมีอาการคงอยู่ แม่ซางและบริวารจะกระจาย ออกไป ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น เมื่อแม่ซางและบริวารกระจายขึ้นไปจากกลางหน้าแข้งถึงหัวเข่าจะเป็นเม็ดสีแดงลามออกไปเหมือนไฟไหม้ ทำให้มีอาการปวด เมื่อมีอาการรุนแรงขึ้นอาจถึงตายได้. ดู ซางเจ้าเรือน ประกอบ. |
หมวด ต
คำศัพท์ | ความหมาย |
---|---|
ตานขโมย | ดู ตานโจร. |
ตานโจร | น. ตานที่เกิดกับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 5-7 ขวบ แพทย์แผนไทยเชื่อว่ามักเกิดจากการกินอาหารอันทำให้เกิดพยาธิในร่างกาย มีอาการหลายอย่าง เช่น ลงท้องธาตุวิปริต ชอบกินของสดของคาว กินอาหารได้น้อย อุจจาระเหม็นคาวจัดถ่ายกะปริบกะปรอยหรือเป็นมูกเลือด บางทีเลือดออกสด ๆ ทำให้เด็กซูบซีดเมื่อเป็นนานประมาณ 3 เดือน จะมีอาการลงท้อง ตกเลือดดั่งน้ำล้างเนื้อปวดมวนเป็นมูกเลือด ดากออก ตัวผอมเหลือง, ตานขโมย ก็เรียก |
ตานซาง, ตานทราง, ตาลทราง | น. ๑. โรคหรือความเจ็บป่วยที่เกิดในเด็ก มี ๒ กลุ่มใหญ่ คือ โรคตาน และ โรคซางใช้คำนี้เมื่อไม่ต้องการระบุเฉพาะเจาะจงว่าเป็นโรคใด. ๒. โรคตานที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากโรคซาง แต่รักษาไม่หาย เมื่อเด็กพ้นเขตซางจึงพัฒนาเป็นโรคตาน |
หมวด ถ
คำศัพท์ | ความหมาย |
---|---|
เถาดาน | น. โรคชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นลำแข็งตั้งขึ้นที่ยอดอกแล้วลามลงไปถึงท้องน้อย ทำให้เจ็บปวด จุกเสียด แน่นหน้าอก |
หมวด ท
คำศัพท์ | ความหมาย |
---|---|
ทราง | ดู ซาง. |
ท้องมาน, ท้องมาร | น. ชื่อโรคจำพวกหนึ่ง มีอาการให้ท้องโตอย่างหญิงมีครรภ์. |
ทุนยักษวาโย | โรคลมจรชนิดหนึ่ง ตำราว่าเกิดจากกองลมอัมพาต ผู้ป่วยมีอาการเสียดตั้งแต่บริเวณสีข้างและชายโครงขึ้นมา ทำให้ตัวงอ ท้องแข็ง กินอาหารไม่ได้ มักอาเจียนเป็นลมเปล่า ตาฟาง ท้องเสีย เป็นต้น. |
โทสันฑฆาต, โทสันทฆาต, โทสันทะฆาฎ | น. โรคชนิดหนึ่งที่เกิดจากการกระทบกระแทกอย่างแรงจนชอกช้ำ เป็นอาการต่อเนื่องจากเอกสันฑฆาต เกิดอาการท้องผูกจนเป็นพรรดึก เกิดเป็นกองลมเข้าไปอยู่ในท้อง ทำให้เจ็บปวดไปทั้งตัว มีอาการเมื่อยบั้นเอว ขัดตะโพก เวียนศีรษะสะบัดร้อน สะท้านหนาว เป็นต้น. ดู สันฑฆาต, สันทฆาต, สันทะฆาฎ ประกอบ. |
หมวด ธ
คำศัพท์ | ความหมาย |
---|---|
ธาตุกำเริบ | น. ภาวะที่ธาตุใดธาตุหนึ่งทำหน้าที่มากผิดปรกติจนทำให้เกิดโทษขึ้น เช่น ธาตุไฟกำเริบ (สันตัปปัคคีกำเริบ) จะทำให้เกิดอาการตัวร้อน มีไข้ |
หมวด น
คำศัพท์ | ความหมาย |
---|---|
น้ำกระสาย, น้ำกระสายยา | ดู กระสาย, กระสายยา. |
ในเรือนไฟ | ดู อยู่ไฟ |
หมวด บ
คำศัพท์ | ความหมาย |
---|---|
บาทจิตร | ดู ลมบาทจิตต์, ลมบาดทะจิตร. |
บำรุงเลือด, บำรุงโลหิต | ๑ ก. ทำให้เลือดมากขึ้นหรือดีขึ้น. ๒. ว. ซึ่งทำให้เลือดมากขึ้นหรือดีขึ้น. |
หมวด ป
คำศัพท์ | ความหมาย |
---|---|
ประดง | น. ๑. โรคกลุ่มหนึ่ง ตำราการแพทย์แผนไทยส่วนใหญ่ว่าเกิดจากไข้กาฬแทรกไข้พิษ ผู้ป่วยมีเม็ดผื่นหรือตุ่มขึ้นตามผิวหนัง อาจมีอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน ตัวร้อน มือเท้าเย็น ร้อนในกระหายน้ำ หอบ สะอึก ปวดเมื่อยในกระดูกปวดศีรษะ เป็นต้น แบ่งออกเป็น 8 ประเภท ตามลักษณะของเม็ดผื่นหรือตุ่ม ได้แก่ ประดงมด ประดงช้าง ประดงควาย ประดงวัว ประดงลิง ประดงแมว ประดงแรดและประดงไฟ. ๒. โรคประเภทหนึ่ง ตำราการแพทย์แผนไทยว่า เกิดจากลมรามะธานี ซึ่งเกิดที่หัวใจ พัดขึ้นไปบนศีรษะ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคันหู หน้าและตา. ๓. โรคผิวหนังชนิดหนึ่ง ทำให้คัน เป็นต้น ตามตำราการแพทย์แผนไทยว่า มีหลายชนิด เช่น ประดงเลือด ประดงลม, ไข้ประดง ก็เรียก. |
ประดงลม | น. ประดงชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีผื่นคันขึ้นตามผิวหนังเป็นกลุ่ม ๆ โบราณว่าเกิดจากลมเป็นพิษ, ไข้ประดงลม หรือ ลมพิษ ก็เรียก. |
ปัฏฆาต, ปัตฆาฏ, ปัตะฆาฎ | ดู ปัตคาด. |
ปัตคาด | น. ๑. เส้นที่มีจุดเริ่มต้นบริเวณขอบเชิงกรานด้านหน้า แล่นถึงตาตุ่ม เส้นด้านบนจะแล่นไปทางด้านหลัง ขึ้นข้างกระดูกสันหลัง (ถัดออกมาจากเส้นรัตตฆาต) ถึงบริเวณต้นคอ ท้ายทอย ขึ้นศีรษะ แล้วลงมาที่แขน เส้นที่อยู่ด้านขวา เรียกเส้นปัตฆาตขวา เส้นที่อยู่ด้านซ้าย เรียก เส้นปัตฆาตซ้าย ส่วนเส้นด้านล่างจะเริ่มจากบริเวณหน้าขา แล่นลงมาถึงตาตุ่มด้านใน เรียก เส้นปัตฆาตใน ส่วนด้านนอกเริ่มจากบริเวณสะโพก แล่นลงมาถึงตาตุ่มด้านนอก เรียก เส้นปัตฆาตนอก. ๒. โรคลมชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมักมีอาการปวดเมื่อยตามแนวเส้นปัตฆาต เคลื่อนไหวไม่สะดวก, ลมปัตฆาต ก็เรียก, เขียนว่า ปัฏฆาต ปัตฆาฏ หรือ ปัตะฆาฎ ก็มี |
หมวด ฝ
คำศัพท์ | ความหมาย |
---|---|
ฝีปลวก | น. ฝีวัณโรคชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีต่อมกลัดหนองขึ้นที่ปอด ตำราว่าเมื่อเริ่มเป็นจะมีอาการเจ็บบริเวณหน้าอกถึงสันหลัง ทำให้ผอมเหลือง อาเจียนเป็นเลือด ไอเรื้อรัง เหม็นคาวคอ กินไม่ได้นอนไม่หลับ. |
ฝีมะเร็ง | ดูใน มะเร็ง. |
ฝีมานทรวง | น. ฝีวัณโรคชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีต่อมกลัดหนองเกิดขึ้นที่บริเวณทรวงอก ตำราว่าเมื่อเริ่มเป็นจะมีอาการยอก จุกเสียด แน่นหน้าอก หายใจขัด ไอมีเสมหะ ซูบผอม เป็นต้น. |
ฝีเอ็น | น. ฝีชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีเม็ดผุดขึ้นตามเส้นเอ็น มักพบบริเวณเส้นเอ็นที่ลำคอ ตำราการแพทย์แผนไทยว่า เกิดจากความบอบช้ำบริเวณลำคออันเนื่องมาจากการคลอด. |
หมวด พ
คำศัพท์ | ความหมาย |
---|---|
พรรดึก | ๑ ก. อาการท้องผูกมาก มีอุจจาระเป็นก้อนแข็ง คล้ายขี้แมวหรือขี้แพะ. ๒ น. อุจจาระเป็นก้อนแข็ง กลม คล้ายขี้แมวหรือขี้แพะ. |
พาหุรวาโย | น. โรคลมจรชนิดหนึ่ง ตำราว่าเกิดจากกองสุขุมังควาต ผู้ป่วยมีอาการมือเท้าบวมหนักศีรษะ วิงเวียน น้ำมูกน้ำตาไหล เสียวมือและเท้าเป็นเหน็บ หากเป็นนานถึง 5 เดือน ผู้ป่วยจะลุกไม่ขึ้น |
พิษไข้ | น. อาการผิดปรกติที่เกิดขึ้นจากไข้ เช่น มีผื่น ร้อนใน กระหายน้ำ ท้องผูก อ่อนเพลีย ครั่นเนื้อครั่นตัว. |
หมวด ฟ
คำศัพท์ | ความหมาย |
---|---|
ไฟธาตุกำเริบ | น. ภาวะที่ธาตุไฟในร่างกายทำหน้าที่มากผิดปรกติจนทำให้เกิดโทษ เช่นสันตัปปัคคีกำเริบ จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการตัวร้อน เป็นไข้ เป็นต้น. ดู ธาตุกำเริบประกอบ. |
หมวด ม
คำศัพท์ | ความหมาย |
---|---|
มงคร่อ, มงคล่อ | ดู มองคร่อ. |
มดลูกเข้าอู่ | น. มดลูกหดตัวเข้าสู่ภาวะปรกติภายหลังคลอด. |
มองคร่อ | น. ๑. โรคระบบทางเดินหายใจประเภทหนึ่ง ผู้ป่วยมีเสมหะเหนียวข้นอยู่ในช่องหลอดลมทำให้มีอาการไอเรื้อรัง. ๒. ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันหมายถึงโรคหลอดลมโป่งพอง มีเสมหะในช่องหลอดลม ทำให้มีอาการไอเรื้อรัง โดยเฉพาะเมื่อนอนราบ, มงคร่อ หรือ มงคล่อ ก็เรียก. (อ. bronchiectasis). |
มะเร็ง | น. โรคเรื้อรังกลุ่มหนึ่ง ผู้ป่วยมักมีแผล ผื่น ตุ่ม ก้อน เป็นต้น ผุดขึ้นตามส่วนต่างๆ ภายในหรือภายนอกร่างกาย ตำราการแพทย์แผนไทยแบ่งเป็นหลายประเภทเช่น มะเร็งไร มะเร็งตะมอย มะเร็งทรวง มะเร็งช้าง หากผู้ป่วยมีอาการไข้ร่วมด้วยมักเรียก ไข้มะเร็ง เช่น ไข้มะเร็งปากทูม ไข้มะเร็งปากหมู ไข้มะเร็งเปลวไฟฟ้า หากผู้ป่วยมีฝีร่วมด้วย เรียกว่า ฝีมะเร็ง เช่น ฝีมะเร็งทรวง ฝีมะเร็งฝักบัว ฝีมะเร็งตะมอย. ๒. ในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน หมายถึง เนื้องอกชนิดร้ายเกิดขึ้นเพราะเซลล์แบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ควบคุมไม่ได้แล้วแทรกไปตามเนื้อเยื่อข้างเคียง และอาจหลุดจากแหล่งเริ่มต้นไปแบ่งตัวเพิ่มจำนวนที่บริเวณอื่น ๆ ได้ รักษาไม่ค่อยหาย. |
มะเร็งไร | น. โรคมะเร็งชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีตุ่มคล้ายหิดขึ้นตามผิวหนัง มีอาการคันมาก มักเกาจนเลือดซึม อาการไม่รุนแรงถึงชีวิต แต่รักษาให้หายขาดยาก ตำราการแพทย์แผนไทยว่า เกิดจากพยาธิคล้ายตัวไร. |
มุตกิด | น. โรคชนิดหนึ่ง เกิดกับผู้หญิง ผู้ป่วยมักมีระดูขาว ปัสสาวะขุ่นข้น บางครั้งบริเวณขอบทวารเบา อาจเป็นเม็ดหรือแผล คัน เปื่อย แสบ เหม็นคาว มีอาการแสบอกกินอาหารไม่รู้รส ปวดหลัง เสียวมดลูก เป็นต้น ตำราการแพทย์แผนไทยหลายเล่มแบ่งมุตกิดออกเป็น 4 จำพวก คือ 1) ปัสสาวะเป็นช้ำเลือด มีกลิ่นเหมือนปลาเน่า 2) ปัสสาวะเป็นเลือดจาง ๆ สีเหมือนน้ำชานหมาก 3) ปัสสาวะเป็นหนองจางๆเหมือนน้ำซาวข้าว และ 4) ปัสสาวะเป็นเมือก หยดลงเหมือนน้ำมูกไหล, เขียนว่ามุตรกฤจฉ์ มุตรกฤต มุตร์กิจฉ์ หรือ มุตระกฤต ก็มี. |
มุตฆาต, มุตตฆาต | น. โรคชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดความผิดปรกติของน้ำปัสสาวะ เกิดจากการกระทบกระแทก เช่น จากอุบัติเหตุ เพศสัมพันธ์ ผู้ป่วยมีอาการปวดมากเวลาถ่ายปัสสาวะปัสสาวะกะปริบกะปรอย ปวดขัดบริเวณสีข้าง จุกเสียดบริเวณหน้าอก อาเจียนเป็นลมเปล่า เบื่ออาหาร เป็นต้น, เขียนว่า มุตรฆาฏ หรือ มุตระฆาฎ ก็มี. |
มุตรกฤจฉ์, มุตรกฤต, มุตร์กิจฉ์, | ดู มุตกิด. |
มุตระกฤต, มุตรฆาฏ, มุตระฆาฎ | ดู มุตฆาต, มุตตฆาต. |
หมวด ย
คำศัพท์ | ความหมาย |
---|---|
ยา | ๑. น. สิ่งที่ใช้แก้ ป้องกันโรค หรือบำรุงร่างกาย ในทางการแพทย์แผนไทยมักหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสมุนไพรตั้งแต่ 2 สิ่งขึ้นไป ผสม ปรุง แต่ง ตามตำรับเรียกชื่อต่าง ๆ กัน คือ เรียกตามลักษณะก็มี เช่น ยาผง ยาเม็ด ยาลูกกลอน ยาน้ำ เรียกตามสีก็มี เช่น ยาเขียว ยาดำ เรียกตามรสหรือกลิ่นก็มี เช่น ยาขมยาหอม เรียกตามวิธีทำก็มี เช่น ยาต้ม ยาดอง ยาฝน ยาหลาม เรียกตามกิริยาที่ใช้ก็มี เช่น ยากวาด ยาดม ยาอม ยานัตถุ์ ยาเป่า ยาพ่น ยาพอก ยาเหน็บยาสวน. ๒. (กฎ) น. วัตถุที่รับรองไว้ในตำรายาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศ, วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการวินิจฉัย บำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยของมนุษย์หรือสัตว์, วัตถุที่เป็นเภสัชเคมีภัณฑ์หรือเภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป หรือวัตถุที่มุ่งหมายสำหรับให้เกิดผลแก่สุขภาพโครงสร้าง หรือการกระทำหน้าที่ใด ๆ ของร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์. ๓. ก. ทำให้หายโรค, รักษาให้หาย ในคำว่า เยียวยา |
ยาประจุ | น. ยาแผนโบราณประเภทหนึ่ง ใช้ขับพิษ ถ่ายพิษ ล้างพิษ หรือฟอกพิษ |
ยาประจุโลหิต | น. ยาฟอกเลือด ยาขับโลหิตระดูที่เน่าเสียออกจากร่างกาย. |
ยาผาย | น. ยาแผนโบราณไทยรูปแบบหนึ่ง ใช้ขับหรือระบายลม เลือด และธาตุ ให้เดินเป็นปรกติ เช่น ยาผายลมช่วยให้ลมระบายออกทางทวารหนัก ยาผายเลือดเป็นยาสำหรับฟอดเลือดหรือระดูให้เป็นปรกติ ยาผายธาตุช่วยให้ถ่ายอุจจาระเป็นปรกติ. |
หมวด ร
คำศัพท์ | ความหมาย |
---|---|
ร้อนใน | น. อาการร้อนภายในช่องท้องถึงภายในปาก ผู้ป่วยมักมีอาการปากแห้ง คอแห้งกระหายน้ำ มีแผลที่เยื่อบุภายในช่องปาก ท้องผูก เป็นต้น มักใช้คู่กับ กระหายน้ำ เป็น ร้อนในกระหายน้ำ |
ร้อนในกระหายน้ำ | ดูใน ร้อนใน. |
ราทยักษวาโย | ดู ลมราชยักษ์, ลมราทธยักษ์, ลมราทยักษ, ลมราทยักษ์. |
ระดู | น. เลือดประจำเดือนที่ขับถ่ายจากมดลูกออกมาทางช่องคลอด. |
ระดูทับไข้ | น. การมีระดูออกมาระหว่างเป็นไข้ อาการจะรุนแรงน้อยกว่าไข้ทับระดู แต่อาจรุนแรงถึงตายได้. |
ระบาย | ก. ถ่ายออก เช่น ระบายท้อง. |
รำเพรำพัด | ดู ไข้รำเพรำพัด, ไข้ลมเพลมพัด |
รำมะนาด | น. โรคชนิดหนึ่งเกิดตามรากฟัน ทำให้เหงือกบวม อักเสบเป็นหนอง, เขียนว่า รำมะนาฏ ก็มี. |
รำมะนาฏ | ดู รำมะนาด. |
รำหัด | ก. แทรก เจือ ใส่ โรย ตัวยาปริมาณเล็กน้อย โดยใช้ปลายนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้จีบเข้าหากัน |
ริดสีดวง | น. โรคกลุ่มหนึ่ง เกิดได้กับอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ตา จมูก ลำไส้ ทวารหนัก ตำราการแพทย์แผนไทยว่า มี 18 ชนิด แต่ละชนิดมีอาการและชื่อเรียกแตกต่างกันไป บางชนิดอาจมีติ่งหรือก้อนเนื้อเกิดขึ้นที่อวัยวะนั้น เช่น ริดสีดวงตา ริดสีดวงทวารหนัก, หฤศโรค ก็เรียก, เขียนว่า ฤศดวง หรือ ฤษดวง ก็มี. |
ริดสีดวงจมูก | ดู ฆานโรโค, ฆานะโรโค. |
ริดสีดวงมหากาฬ | น. ๑. ริดสีดวงประเภทหนึ่ง เกิดในลำคอ อก ลำไส้ และทวารหนัก เมื่อเริ่มเป็นผู้ป่วยมีเม็ดขนาดเท่าถั่วเขียวขึ้นเป็นกลุ่ม 9-10 เม็ด เมื่อสุกจะแตกออกเป็นหนองปนเลือดแล้วเปื่อยลามเป็นปื้น มีหนองปนเลือดไหลซึมตลอดเวลา ปากคอเปื่อย กินอาหารเผ็ดร้อนไม่ได้. ๒. ยาแผนไทยขนานหนึ่ง ใช้แก้ริดสีดวง |
หมวด ฤ
คำศัพท์ | ความหมาย |
---|---|
ฤศดวง, ฤษดวง | ดู ริดสีดวง |
หมวด ล
คำศัพท์ | ความหมาย |
---|---|
ลมกรรมมัชวาต | น. ลมที่เกิดในหญิงกำลังจะคลอดบุตร มดลูกจะหดตัว ตำแหน่งของทารกอยู่ต่ำมาก ทำให้ทารกในครรภ์เคลื่อนเอาศีรษะลง พร้อมที่จะคลอดออกมา, ลมเบ่ง ก็เรียก, เขียนว่า ลมกัมมัชวาต หรือลมกัมมัชชวาต ก็มี |
ลมกษัย,ลมกระษัย | น. ลมที่ทำให้ผอมแห้งแรงน้อย เป็นต้น |
ลมกองละเอียด | น. ลมที่ทำให้มีอาการหน้ามืด ตาลาย วิงเวียน อ่อนเพลีย สวิงสวาย ใจสั่น เป็นต้น, สุขุมวาตะ หรือ สุขุมวาตา ก็เรียก |
ลมกองหยาบ | น. ลมที่ทำให้มีอาการจุกเสียดแน่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ เป็นต้น, โอฬาริกวาตะ หรือ โอฬาริกวาตา ก็เรียก. |
ลมกัมมัชวาต, ลมกัมมัชชวาต | ดู ลมกรรมมัชวาต. |
ลมกำเดา | น. โรคลมชนิดหนึ่ง ตำราการแพทย์แผนไทยว่า เป็นลมที่เกิดแทรกไข้กำเดา ผู้ป่วยมีอาการวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย หนักศีรษะ เจ็บตา เป็นต้น. |
ลมกำเนิด | ดู ลมซาง. |
ลมกุมภัณฑยักษ์ | น. โรคลมมีพิษชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการชัก มือกำเท้างอ หมดสติ โบราณว่าถ้ารักษาไม่ได้ภายใน 11 วัน อาจถึงแก่ความตาย. |
ลมขึ้น, ลมขึ้นเบื้องสูง, ลมขึ้นสูง | น. โรคชนิดหนึ่งหรือความผิดปรกติอันเกิดจากธาตุลม ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย สวิงสวาย หน้ามืด หูอื้อ เป็นต้น |
ลมซาง | น. โรคลมชนิดหนึ่ง เกิดในเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึง 5 ขวบ ผู้ป่วยมีอาการแตกต่างกันไปตามวันเกิด, ลมกำเนิด ก็เรียก, เขียนว่า ลมทราง ก็มี. |
ลมตะกัง | ดู ลมปะกัง |
ลมตีขึ้นเบื้องสูง | ดู ลมขึ้น, ลมขึ้นเบื้องสูง, ลมขึ้นสูง. |
ลมทราง | ดู ลมซาง. |
ลมบาทจิตต์, ลมบาดทะจิต | น. โรคลมมีพิษชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีไข้สูง เพ้อ ชัก เป็นต้น โบราณว่าถ้ารักษาไม่ได้ภายใน 10 วัน อาจถึงแก่ความตาย, เขียนว่า บาทจิตร ก็มี |
ลมเบ่ง | ดู ลมกรรมมัชวาต. |
ลมปลายไข้ | น. ความผิดปรกติเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ไม่สบายตัว วิงเวียน คลื่นไส้ เบื่ออาหารอ่อนเพลีย ท้องอืดเฟ้อ มักเกิดขึ้นหลังฟื้นไข้ หรือหายจากความเจ็บป่วยบางอย่าง. |
ลมปะกัง | น. โรคชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะมาก อาจจะปวดข้างเดียวหรือ 2 ข้าง |
ลมปัตฆาต | ดู ปัตคาด. |
ลมพรรดึก | น. โรคลมชนิดหนึ่ง เกิดจากอาการท้องผูกมาก มีลมคั่งอยู่ในท้อง เป็นเถาดานอุจจาระเป็นก้อนแข็งคล้ายขี้แมวหรือขี้แพะ ตำราการแพทย์แผนไทยว่า อาจเกิดจากธาตุไฟกำเริบ หรือกินของแสลง ผู้ป่วยมักมีอาการจุกเสียด กินอาหารไม่ได้ทุรนทุราย ร้อนตามแข้งขา เป็นเหน็บชา ปัสสาวะบ่อย ๆ เป็นต้น. |
ลมพานไส้ | น. โรคลมชนิดหนึ่ง ตำราการแพทย์แผนไทยว่า ผู้ป่วยมีอาการอาเจียน จุกอก หากเป็นอยู่นานถึง 7 เดือน ผู้ป่วยจะปวดเสียดบริเวณซี่โครงด้านซ้าย ร่างกายผอม เหลือง อยากกินของสดของคาว เมื่อมีอาการเรื้อรังถึง 3 ปี จะถึงแก่ความตาย. |
ลมพิษ | ดู ประดงลม. |
ลมพุทธยักษ์, ลมพุทยักษ์ | น. โรคลมชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมักมีอาการชัก กระสับกระส่าย ขบฟัน ตาเหลือกตาเบิกกว้าง ปากเบี้ยว มือกำเท้างอ แยกแข้งแยกขา ไม่มีสติ เป็นต้น. |
ลมเพลมพัด | ดู ไข้รำเพรำพัด, ไข้ลมเพลมพัด. |
ลมมหาสดม, ลมมหาสดมภ์ | น. โรคลมอันมีพิษชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการหาวนอนมาก จิตใจสับสน หมดสติ |
ลมราชยักษ์, ลมราทธยักษ์, ลมราทยักษ, ลมราทยักษ์ | น. โรคลมชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการเป็นไข้ตัวร้อน ชักมือกำ เท้างอ ลิ้นกระด้างคางแข็งคอแข็ง ตาเหลือง เป็นต้น, ราทยักษวาโย ก็เรียก. |
ลมวิงเวียน | น. ลมกองละเอียดประเภทหนึ่งทำให้หน้ามืด ตาลาย วิงเวียน อ่อนเพลีย สวิงสวาย ใจสั่น. |
ลมสะอึก | ดู สะอึก |
ลมสุนทรวาต | น. ลมซางชนิดหนึ่ง เกิดในเด็กที่เกิดวันพุธ เด็กเริ่มมีอาการปวดท้อง ท้องขึ้น ตามด้วยอาการท้องเสีย ชักมือกำเท้างอ ท้องและหน้าเขียว เป็นต้น. |
ลมหัศคินนี, ลมหัศคินี, ลมหัสดี | น. ลมซางชนิดหนึ่ง เกิดในเด็กที่เกิดวันพฤหัสบดี เด็กมีอาการชัก มือกำ เท้างอ หลังแข็ง เหงื่อออก ท้องอืด เป็นต้น เด็กที่เป็นโรคนี้ห้ามอาบน้ำเย็น และไม่ใช้ยา ที่ผสมกับเหล้า |
ลมอริต, ลมอริศ | น. ลมซางชนิดหนึ่ง เกิดในเด็กที่เกิดวันศุกร์ เด็กมีอาการคอเขียว ชัก มือกำเท้างอ นัยน์ตากลอกไปมา น้ำลายฟูมปาก ลิ้นกระด้างคางแข็ง บางทีชักข้างซ้ายแต่เกร็งข้างขวา เป็นต้น |
ละออง | น. โรคเด็กชนิดหนึ่ง เกิดกับทารกแรกเกิดถึงเด็กอายุไม่เกิน 5 ขวบ 6 เดือน ผู้ป่วยมีฝ้าบาง ๆ เกิดขึ้นในปาก ลำคอ กระพุ้งแก้ม หรือบนลิ้น ฝ้าบาง ๆ นี้อาจมี สีต่าง ๆ กัน ทำให้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป นอกจากนี้ ยังมีเจ้าเรือนและชื่อเรียก แตกต่างกันไปตามวันเกิดของผู้ป่วยด้วย เช่น ละอองแก้ววิเชียร เป็นละออง ที่เกิดกับเด็กที่เกิดวันจันทร์ มีซางน้ำเป็นเจ้าเรือน ละอองที่อาจทำให้มีอาการ รุนแรงขึ้นถึงตายได้ เรียก ละอองพระบาท เช่น ละอองมหาเมฆ ละอองเปลวไฟฟ้า ละอองแก้ววิเชียร |
ละอองทับทิม, ละอองเปลวไฟฟ้า | น. ละอองที่เป็นกับทารกหรือเด็กที่เกิดวันเสาร์ มีซางโจรเป็นซางเจ้าเรือน และทารกหรือเด็กที่เกิดวันอาทิตย์ มีซางเพลิงเป็นซางเจ้าเรือน ผู้ป่วยมักมีเม็ดหรือยอดสีแดงคล้ายสีชาดหรือสียอดทับทิม ผุดขึ้นมาตามฝ้าบาง ๆ ที่เกิดขึ้นในปากลำคอ กระพุ้งแก้ม หรือบนลิ้น เมื่อรุนแรงขึ้นมักมีอาการลิ้นกระด้าง คางแข็งตาค้าง ชักเท้ากำมือกำ ตัวร้อนจัด. ดู ละออง ประกอบ. |
ละอองพระบาท | ดูใน ละออง |
ละอองมหาเมฆ | น. ละอองที่เป็นกับทารกหรือเด็กที่เกิดวันพฤหัสบดี มีซางโคเป็นซางเจ้าเรือนผู้ป่วยมักมีเม็ดยอดสีม่วงคล้ำขึ้นในปาก เมื่อรุนแรงขึ้นจะมีอาการหน้าเขียวชักเท้ากำมือกำ ตาช้อนสูง อุจจาระปัสสาวะไม่ออก |
โลหิตเน่า | น. โลหิตทุจริตโทษประเภทหนึ่ง เกิดจากโลหิตระดูร้าง โลหิตคลอดบุตร โลหิตต้องพิฆาต และโลหิตตกหมกช้ำ ที่ปล่อยทิ้งให้เรื้อรังจนเน่า ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ แทรกซ้อนขึ้น เช่น เกิดจ้ำเลือดตามผิวหนังเป็นสีดำ แดง เขียว หรือขาวหรือเป็นตุ่มขนาดเล็ก ทำให้มีอาการคันมาก. |
โลหิตระดูพิการ | น. เลือดประจำเดือนที่มาไม่เป็นปรกติ. |
โลหิตัง | น. เลือด โลหิต เป็นองค์ประกอบ 1 ใน 12 สิ่งของธาตุน้ำ. |
หมวด ว
คำศัพท์ | ความหมาย |
---|---|
วารยักษวาโย | น. โรคลมจรชนิดหนึ่ง ตำราว่าเกิดจากกองอชิณวาต ผู้ป่วยจะอยากกินอาหารคาวหวาน เนื้อ ปลา ปู และหอย ซึ่งเมื่อกินแล้วทำให้มีอาการเสียดชายโครงทั้งสองข้าง จุกแน่นบริเวณหน้าอก แล้วลามไปจนถึงบริเวณองคชาต มือเท้าตายไม่มีเรี่ยวแรง เป็นต้น. |
หมวด ส
คำศัพท์ | ความหมาย |
---|---|
สมุฏฐาน | น. ที่เกิด ที่ตั้งเหตุ. |
สมุฏฐานวาตะ | น. ที่ตั้งหรือที่แรกเกิดของโรคอันเกิดจากลม แบ่งออกเป็น 3 อย่าง ได้แก่ หทัยวาตะ (ลมในหัวใจ อันทำให้หัวใจทำงานเป็นปรกติ) สัตถกวาตะ (ลมที่ทำให้เกิดอาการเสียดแทงตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย) และ สุมนาวาตะ (ลมในเส้นอันทำให้เกิดอาการปวดเมื่อย) |
สมุฏฐานเสมหะ | น. ที่ตั้งที่แรกเกิดของโรคอันเกิดจากเสลด แบ่งออกเป็น 3 อย่าง ได้แก่ ศอเสมหะ (เสมหะในลำคอ) อุระเสมหะ (เสมหะในอก) และคูถเสมหะ (เสมหะในทวารหนัก) |
สรรพวาระจักรโมละวาโย | น. โรคลมจรชนิดหนึ่ง ตำราว่าเกิดจากกองอัมพฤกษ์และลมปัตคาดร่วมกันผู้ป่วยมีอาการเจ็บบริเวณหลังส่วนล่างก่อน แล้ววิ่งขึ้นไปตามสีข้าง มีอาการเจ็บมากบริเวณต้นคอ เป็นต้น มักเกิดเป็นครั้งคราว 3-4 วัน/ครั้ง. |
สวิงสวาย | ก. อาการที่รู้สึกใจหวิว วิงเวียน คลื่นไส้ ตาพร่าจะเป็นลม. |
สะอึก | ก. อาการที่หายใจชะงักเป็นระยะ เนื่องจากกะบังลมหดตัวและช่องสายเสียงปิดตามทันทีทันใดในเวลาเดียวกัน, ลมสะอึก ก็เรียก |
สัตถกวาต | น. ๑. ดูใน สมุฏฐานวาตะ. ๒. โรคลมชนิดหนึ่ง ตำราการแพทย์แผนไทยว่าเกิดจากสันฑฆาต ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเจ็บบริเวณหน้าอก เมื่อเป็นนานเข้าจะเกิดเป็นเวลา โดยเมื่อมีอาการจะรู้สึกเจ็บแปลบปลาบไปทั่วทั้งตัวเหมือนถูกมีดเชือดและเหล็กแหลมแทง ใจสั่น เมื่ออาการบรรเทาลงจะรู้สึกหิว ไม่มีแรง ปวดหัว ตามัว กินอาหารไม่ได้ นอนไม่หลับ หากจะรักษาต้องรักษาเมื่อเริ่มมีอาการเจ็บหน้าอก ถ้ารักษามิหายก็จะกลายเป็นโทสันฑฆาตและตรีสันฑฆาต รักษาไม่ได้. |
สันฑฆาต, สันทฆาต, สันทะฆาฏ | น. ๑ เส้นที่มีจุดเริ่มต้นบริเวณขอบเชิงกรานด้านหน้า แล่นถึงตาตุ่ม เส้นด้านบนจะแล่นไปทางด้านหลัง ขึ้นข้างกระดูกสันหลัง ถึงบริเวณต้นคอ ท้ายทอย ขึ้นศีรษะ แล้วลงมาที่แขน เส้นที่อยู่ด้านขวา เรียก เส้นสันฑฆาตขวา เส้นที่อยู่ด้านซ้าย เรียก เส้นสันฑฆาตซ้าย. ๒. โรคเกี่ยวกับเส้นชนิดหนึ่ง ทำให้มีอาการจุกเสียดหน้าอก. ๓. โรคชนิดหนึ่ง เกิดจากการกระทบกระแทกชอกช้ำอย่างแรง เช่น ตกต้นไม้ ถูกทุบถองโบยตี ทำให้เกิดเลือดออกเป็นลิ่ม เป็นก้อน แห้ง หรือเน่าเสียอยู่ภายใน เรียก โลหิตต้องพิฆาต ในสตรีอาการอาจรุนแรงหากเกิดขณะมีระดู แบ่งเป็น 4 ชนิดตามความรุนแรงของโรค ได้แก่ เอกสันฑฆาต โทสันฑฆาต ตรีสันฑฆาต และอาสันฑฆาต |
สันนิบาต | น. ๑. ความเจ็บป่วยอันเกิดจากกองสมุฏฐานปิตตะ วาตะ และเสมหะ ร่วมกัน กระทำให้เกิดโทษเต็มกำลังในวันที่ 30 ของการเจ็บป่วย. ๒. ไข้ประเภทหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการ สั่นเทิ้ม ชักกระตุก และเพ้อ เช่น ไข้สันนิบาตลูกนก ไข้สันนิบาตหน้าเพลิง. |
สันนิบาตลมปะกัง | ดู ลมปะกัง. |
สิตมัควาโย | น. โรคลมจรชนิดหนึ่ง ตำราว่าเกิดจากกามวาตะและกองลมวิหค ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการมือเท้าเย็น แล้วทำให้มือเท้าตายยกไม่ขึ้น หากรักษาไม่หายจะทำให้มีอาการลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด และอายุสั้น. |
สุขุมวาตะ, สุขุมวาตา | ดู ลมกองละเอียด |
สุม | ก. ๑. วางทับซ้อน ๆ กันลงไปจนสูงเป็นกอง มักใช้กับคำว่า กระหม่อม เป็นสุมกระหม่อม. ๒. นำตัวยามาผสมรวมกันใส่ในหม้อดิน เผาให้เป็นถ่าน ยกลงจากเตาทิ้งไว้จนเย็น (โดยไม่เปิดฝาหม้อ หากเปิดฝาหม้อตัวยาภายในจะเป็นเถ้า มักใช้ร่วมกับคำว่า ยา เป็น สุมยา) |
สุมกระหม่อม | ดู สุม. |
เส้น | น. สิ่งที่มีลักษณะเป็นแนว ไม่กำหนดความยาว แนวที่มีลักษณะของธาตุดินจะจับต้องได้ เช่น เส้นเลือด เส้นเอ็น เส้นประสาน ในแนวเหล่านี้อาจเป็นทางขับเคลื่อนของธาตุน้ำ ธาตุไฟ หรือธาตุลม, เอ็น หรือ เส้นเอ็น ก็เรียก |
ส้นปัตคาดขวา | ดูใน ปัตคาด |
เส้นปัตคาดซ้าย | ดูใน ปัตคาด |
เส้นปัตคาดนอก | ดูใน ปัตคาด |
เส้นปัตคาดใน | ดูใน ปัตคาด |
เส้นสันฑฆาตขวา | ดูใน สันฑฆาต, สันทฆาต, สันทะฆาฎ |
เส้นสันฑฆาตซ้าย | ดูใน สันฑฆาต, สันทฆาต, สันทะฆาฎ |
เส้นเอ็น | ดู เส้น |
เสียด | ก. อาการที่รู้สึกอึดอัดหรือแทงยอกในท้องหรืออกเนื่องจากมีลม ในคำว่า เสียดท้อง เสียดอก จุกเสียด. |
ไส้ลาม | น. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง เกิดได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ผู้ป่วยมีเม็ดฝีขึ้นที่ภายในอวัยวะเพศและลามออกมาภายนอก ไปที่ท้องน้อย ทวารหนัก ทวารเบา เมื่อเม็ดฝีแตกออกหนองจะไหลออกมา อาจมีอาการปวดมวนท้อง ถ่ายเป็นมูกเลือด แน่นหน้าอก อาเจียน กินอาหารไม่ได้ หรือเป็นลมบ่อย ๆร่วมด้วย |
ไส้เลื่อน | น. โรคที่ลำไส้ออกไปจากช่องท้อง ได้แก่ ลงมาที่ถุงอัณฑะ (ในผู้ชาย) ที่แคมใหญ่ (ในผู้หญิง) หรือเลื่อนลงมาทางหน้าขา หรือเลื่อนออกไปทางหน้าท้อง สะดือ หรือเลื่อนผ่านกระบังลมเข้าไปในช่องอก. |
หมวด ห
คำศัพท์ | ความหมาย |
---|---|
หทัยวาต | น. ๑. ดูใน สมุฏฐานวาตะ. ๒. โรคลมชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมักมีอาการมึนตึง ไม่ค่อยพูดคุย ใจลอยบ่อย ๆ ชอบอยู่คนเดียว ใจน้อย โกรธง่าย เบื่ออาหาร บางครั้งหัวเราะ บางครั้งร้องไห้ ถ้าจะรักษาให้รักษาเมื่อเริ่มมีอาการ หากทิ้งไว้นานจะรักษายาก. |
หฤศโรค | ดู ริดสีดวง. |
หัดหลบ | ดูใน ไข้ออกหัด. |
หมวด อ
คำศัพท์ | ความหมาย |
---|---|
อยู่ไฟ | ๑ ก. นอนหรือนั่งผิงไฟ ใช้กับสตรีหลังคลอด โบราณมักใช้ไฟจากไม้ที่ติดไฟง่ายให้ความร้อนดีและนาน ไม่แตกปะทุ เช่น ไม้สะแกนา ไม้มะขาม. ๒. น. กระบวนการดูแลสุขภาพของมารดาหลังคลอดในระยะแรก ซึ่งครอบคลุมการนอนหรือนั่งผิงไฟการเข้ากระโจม การอาบสมุนไพร การนั่งถ่าน การทับหม้อเกลือ การนวดการประคบ การกินยา การกินอาหาร เป็นต้น โบราณเชื่อว่าความร้อนจะช่วยให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น ช่วยขับน้ำคาวปลา ช่วยให้เลือดลมของสตรีหลังคลอดไหลเวียนดีขึ้น ลดการเกร็งและปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อ ช่วยให้แผลฝีเย็บหายเร็วขึ้น ลดอาการเจ็บปวดอันเกิดจากการหดรัดตัวของมดลูกและจากเต้านมคัดช่วยให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย เป็นต้น, ในเรือนไฟ ก็เรียก. |
อัควารันตวาโย | น. โรคลมจรชนิดหนึ่ง ตำราการแพทย์แผนไทยว่า เกิดจากกองอัมพฤกษ์และสุมนา ผู้ป่วยมีอาการเจ็บทั่วตัว มักหลับนาน ฝันเห็นเรื่องน่ากลัว ทำให้ขนลุกไปทั้งตัว คันมาก เป็นต้น |
อัมพาต | น. ๑. ลมที่พัดจากปลายเท้าขึ้นไปทั่วตัว ทำให้อวัยวะบางส่วน เช่น แขนขาตาย ลิ้นกระด้างคางแข็ง. ๒. โรคชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการอวัยวะบางส่วน เช่น แขนขาตาย ไม่มีความรู้สึก, เขียนว่า อัมพาธิ อำมพาด อำมพาต อำมพาธ อำมพาธิ หรือ อำมะพาธ ก็มี. (ส. อม + วาต). |
อัมพาธิ, อำมพาด, อำมพาต, อำพาธ, อำมพาธิ, อำมะพาธ | ดู อัมพาต. |
อุจจาระธาตุพิการ | น. อาการที่ธาตุทั้ง 4 ของร่างกายกำเริบ หย่อน หรือพิการ ทำให้เกิดความผิดปรกติทางอุจจาระ คือ มีสีเขียว ขาว ดำ หรือแดง มีกลิ่นหญ้าเน่า กลิ่นข้าวบูด กลิ่นปลาเน่า หรือกลิ่นซากศพ และมีลักษณะเป็นเมือก เป็นมัน เป็นเปลวหรือเป็นไต นอกจากนี้ อาจถ่ายอุจจาระบ่อย |
เอ็น | ดู เส้น |
อุตุปริณามชาอาพาธา | ดู ไข้เปลี่ยนฤดู. |
โอฬาริกวาตะ, โอฬาริกะวาตา | ดู ลมกองหยาบ |
อุทธังคมาวาตา | น. ลมพัดตั้งแต่ปลายเท้าถึงศีรษะ บางตำราว่าพัดตั้งแต่กระเพาะอาหารถึงลำคอแล้วออกทางปาก เช่น ลมที่เกิดจากการเรอ อุทธังคมาวาตาเป็นองค์ประกอบ 1 ใน 6 ชนิดของธาตุลม. |
อุทรวาตอติสาร | น. ปัจจุบันกรรมอติสารชนิดหนึ่ง ตำราการแพทย์แผนไทยว่า เกิดจากการดูแลรักษาสะดือไม่ดีในระยะแรกคลอด ทำให้สะดือไม่แห้ง สะดือเน่า สะดือพองกลายเป็นสะดือจุ่น มีลมอุทรวาตเข้าไปในท้อง เมื่อโตขึ้นจะมีอาการท้องเสียปวดมวนในท้อง นอกจากนี้ ยังมีอาการท้องอืดตลอดเวลา ชักเท้ากำมือกำหน้าเขียว เป็นต้น. |
ที่มา
- หนังสือรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ ฉบับ พ.ศ.2564, กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, กระทรวงสาธารณสุข