ยาขี้ผึ้งเป็นยาเตรียมแผนโบราณรูปแบบหนึ่ง ตำรายาโบราณให้วิธีการปรุงยาเตรียมรูปแบบนี้ไว้ว่า เตรียมจาก “ยาประสมแล้ว ทำเป็นยากวนหรือยาขี้ผึ้งปิดแผล” ยาขี้ผึ้งเป็นรูปแบบยาใช้ภายนอก การเตรียมยาเป็นการต่อยอดมาจากการเตรียมยาน้ำมัน เป็นภูมิปัญญาไทยที่เอาตัวยาไม่ละลายน้ำเตรียมให้อยู่ในรูปน้ำมันแล้วเติมขี้ผึ้ง เพื่อให้เป็นรูปแบบกึ่งของแข็ง
ในการเตรียมยาขี้ผึ้ง มีองค์ประกอบหลัก 2 ส่วน คือ ขี้ผึ้ง และตัวยาสำคัญ ขี้ผึ้งมี 4 ประเภทหลัก ได้แก่
- ขี้ผึ้งชนิดไฮโดรคาร์บอน (oleaginous base) ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นไขล้วน ๆ ไม่มีน้ำเป็นองค์ประกอบ เมื่อทาจะมีลักษณะเป็นมันติดผิวหนัง ล้างออกยาก เช่น พาราฟินแข็ง (hard paraffin), พาราฟินนิ่ม (soft paraffin)
- ขี้ผึ้งชนิดดูดน้ำ (absorption base) ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นไข เมื่อทิ้งไว้จะดูดน้ำได้ เช่น ขี้ผึ้ง ไขแกะ
- ขี้ผึ้งชนิดละลายน้ำ (water-soluble base) ซึ่งละลายน้ำได้ ซึมเข้าผิวหนังได้ดี ไม่มีกลิ่นหืน เช่น พอลิเอทิลีนไกลคอล
- ขี้ผึ้งชนิดอิมัลชัน (emulsifying base) ซึ่งมีน้ำเป็นองค์ประกอบ เช่น ลาโนลิน
กระบวนการผลิตยาขี้ผึ้ง
วิธีที่ 1 ผสมตัวยาลงไปในขี้ผึ้งพื้นที่หลอมเหลว
- ละลายตัวยาสมุนไพรลงในขี้ผึ้งที่หลอมเหลว (หากตัวยาเป็นของแข็ง ต้องบดให้ละเอียด)
- ทิ้งไว้ให้เย็นจนเกือบแข็งตัว
- การผสมตัวยาลงไปตอนที่ขี้ผึ้งเย็นจนเกือบแข็งตัวแล้วเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการเสื่อมสลายของตัวยา
วิธีที่ 2 การบดผสมตัวยาในขี้ผึ้งพื้นที่แข็งตัว
- ใช้โกร่งบดตัวยาให้ละเอียด (กรณีที่ผงยาไม่ละลายในขี้ผึ้งหรือละลายได้น้อย)
- นำขี้ผึ้งมาบดผสมลงไป หลอมให้เข้ากัน
- เมื่ออุณหภูมิของสารผสมขี้ผึ้งลดลงราว 40 องศาเซลเซียส หรืออุ่น ๆ ใกล้จะเริ่มแข็งตัว ให้เติมสารผสมลงในยาพื้น โดยเทแล้วกวนผสมให้เข้ากัน
- แบ่งบรรจุในบรรจุภัณฑ์ในขณะที่ยาขี้ผึ้งยังอุ่นอยู่ ทิ้งไว้ให้แข็งตัว
ที่มา
- หนังสือรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ ฉบับ พ.ศ.2564, กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, กระทรวงสาธารณสุข