วิธีการปรุงยาแผนไทย – ยาผง (powder)

ยาผงเป็นยาเตรียมแผนโบราณรูปแบบหนึ่ง ยาเตรียมแบบนี้อาจใช้กินโดยตรง แล้วดื่มน้ำตามมากๆ หรืออาจแทรกด้วยกระสายบางอย่างเพื่อช่วยให้กินยาได้ง่ายขึ้น การเตรียมยาผงอาจทำได้โดยการนำตัวยาต่างๆ ตามชนิดและปริมาณ/ปริมาตรที่ระบุหรือกำหนดไว้ในตำรับยามาผสมกัน จากนั้นนำยาที่ได้ไปบดให้ละเอียดโดยใช้เครื่องมือสำหรับบดยาชนิดต่าง ๆ ตามความเหมาะสม หรือนำไปบดด้วยเครื่องบดยาสมุนไพรที่ใช้กระแสไฟฟ้าจากนั้นนำผงยาที่ได้ไปแร่งผ่านตะแกรงหรือแร่งที่เหมาะสม โดยทั่วไปมักใช้แร่งเบอร์ 100, เบอร์ 80 หรือเบอร์ 60 จนได้ยาผงที่มีขนาดตามต้องการ

กระบวนการผลิตยาผง

1. การทำให้แห้งก่อนนำไปย่อยขนาด มีหลักการปฏิบัติดังต่อไปนี้

  1. ต้องทำความสะอาดวัตถุดิบสมุนไพรอย่างเหมาะสม จากนั้นให้นำเข้าสู่กระบวนการทำให้แห้งโดยเร็วที่สุดเพื่อป้องกันการเน่า และเพื่อลดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์
  2. ควรย่อยขนาดให้เหมาะสมเท่า ๆ กัน ก่อนนำไปทำให้แห้ง
  3. ไม่วางสมุนไพรซ้อนกันจนหนาเกินไป และควรเกลี่ยชิ้นส่วนของสมุนไพรให้สม่ำเสมอ
  4. ใช้อุณหภูมิที่เหมาะสมกับชนิดและส่วนของสมุนไพร เพื่อคงกลิ่น รส และสารสำคัญของสมุนไพรไว้
  5. บริเวณที่ปฏิบัติงานควรสะอาด ถูกสุขลักษณะ มีการถ่ายเทอากาศที่ดี เพื่อลดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์

2. การย่อยขนาดหรือการบดผง

เครื่องมือที่ใช้มีอยู่หลายประเภท เช่น เครื่องบดแบบค้อน (hammer mill) เครื่องบดแบบตัด (cutting mill) ซึ่งใช้ในการย่อยขนาดของสมุนไพรแห้งและสมุนไพรสดตามลำดับ นอกจากเครื่องมือที่ใช้การย่อยขนาดแล้ว ยังต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

  1. สมุนไพรที่นำไปย่อยต้องถูกชนิด ถูกส่วน สะอาด ไม่มีหิน ดิน และทรายปนเปื้อน
  2. ต้องลดความชื้นของสมุนไพรเพื่อให้ย่อยขนาดได้ง่าย ไม่เหนียว เช่น มีความชื้นน้อยกว่าร้อยละ 5 ของสมุนไพรแห้ง จะทำให้บดสมุนไพรได้ง่ายขึ้น
  3. ในกรณีที่ต้องการผงยาสมุนไพรละเอียดมาก ไม่ควรบดสมุนไพรให้ละเอียดทั้งหมดในครั้งเดียว แต่ควรมีการแร่งเป็นระยะ ๆ กล่าวคือ เริ่มจากแร่งเบอร์เล็กก่อน จากนั้นนำไปบดซ้ำและ เปลี่ยนเป็นแร่งเบอร์ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนได้ขนาดที่ต้องการ
  4. สมุนไพรที่มีเส้นใยสูง เช่น เถาวัลย์เปรียง ควรตัดหรือสับให้มีขนาดเล็กลงก่อน แล้วจึงนำไป บดด้วยเครื่องบด
  5. ในกรณีที่ต้องบดสมุนไพรหลายชนิดรวมกัน เช่น ในสูตรตำรับยาหอม ให้ใส่สมุนไพรที่บดยากลงไปบดก่อน
  6. อัตราการป้อนสมุนไพรเข้าเครื่องบดต้องสัมพันธ์กับความสามารถในทำงานของเครื่อง
  7. การบดสมุนไพรที่ละเอียดมากอาจเกิดความร้อนขึ้นได้ง่าย จึงควรหยุดพักการทำงานของเครื่องเป็นช่วง ๆ หรือหาวิธีการลดความร้อนที่เหมาะสม
  8. ถ้าในสูตรตำรับมีตัวยาสมุนไพรหลายชนิด ต้องทำให้ตัวยาสมุนไพรแต่ละชนิดกระจายอย่างสม่ำเสมอก่อนนำไปบรรจุ หากใช้วิธีบดพร้อมกัน ต้องบดให้ละเอียด มีขนาดเท่ากันทั้งหมด ไม่มีส่วนใดเหลือ ในกรณีที่แยกบด ต้องบดผ่านแร่งที่มีขนาดเดียวกัน แล้วนำไปผสมในเครื่องผสมในเวลาที่เหมาะสมจนผงยาเป็นเนื้อเดียวกัน ทั้งนี้ ให้ศึกษาการกระจายตัวของผงยาสมุนไพรในวิธีการที่ผลิตด้วย
  9. บริเวณที่บดสมุนไพร ต้องควบคุมให้ถูกสุขลักษณะเพื่อลดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์
  10. บุคลากรที่ปฏิบัติงานจะต้องผ่านการฝึกอบรมทั้งด้านการปฏิบัติการเภสัชกรรมที่ดี และความปลอดภัยในโรงงาน เนื่องจากต้องทำงานกับเครื่องจักรกล

3. การบรรจุ

  1. ห้องที่ทำการบรรจุต้องสะอาด มีการควบคุมความชื้น และการฆ่าเชื้อที่เหมาะสม ถ้าเป็นไปได้ ควรบรรจุในห้องที่ควบคุมความดันอากาศเป็นบวก
  2. เครื่องบรรจุมีความเหมาะสมในการบรรจุผงยาสมุนไพรสู่ซองหรือภาชนะบรรจุได้ตามปริมาณที่กำหนดไว้

ที่มา

  • หนังสือรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ ฉบับ พ.ศ.2564, กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, กระทรวงสาธารณสุข