พรบ.อาหาร พ.ศ. 2522 แบ่งประเภทของอาหารตามระดับความเสี่ยง ออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 อาหารควบคุมเฉพาะ
อาหารในกลุ่มนี้เป็นอาหารที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคมากที่สุด อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เนื่องจากเป็นอาหารสําหรับผู้บริโภคกลุ่มเสี่ยง เช่น ทารก เป็นต้น หรือผลิตด้วยกรรมวิธีการผลิตที่ต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวด หรือเป็นอาหารที่มีการรับประทานกันอย่างแพร่หลาย จึงจําเป็นต้องควบคุมและกํากับดูแลอย่างเข้มงวดที่สุด มีการกําหนดด้านคุณภาพหรือมาตรฐาน รวมทั้งการแสดงฉลาก การอนุญาตผลิตภัณฑ์อาหารในกลุ่มนี้จะพิจารณารายละเอียดของอาหาร เช่น สูตร กรรมวิธีการผลิต ฉลาก รวมทั้งต้องส่งรายงานผลการตรวจวิเคราะห์มาประกอบการพิจารณา ซึ่งในปัจจุบันมี 14 ประเภท ได้แก่
- นมดัดแปลงสําหรับทารกและนมดัดแปลงสูตรต่อเนื่องสําหรับทารกและเด็กเล็ก
- อาหารทารกและอาหารสูตรต่อเนื่องสําหรับทารกและเด็กเล็ก
- อาหารเสริมสําหรับทารกและเด็กเล็ก
- โซเดียมซัยคลาเมต* (sodium cyclamate) และอาหารที่มีโซเดียมซัยคลาเมต
- วัตถุเจือปนอาหาร*
- อาหารสําหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก
- สตีวิโอไซด์* (Stevioside) และอาหารที่มีส่วนผสมของสตีวิโอไซด์
- เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
- อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
- นมปรุงแต่ง*
- นมเปรี้ยว
- นมโค
- ผลิตภัณฑ์ของนม
- ไอศกรีม
หมายเหตุ *โซเดียมซัยคลาเมต (sodium cyclamate) เป็นสารให้ความหวาน (sweetener) ชนิดหนึ่ง
*วัตถุเจือปนอาหาร หมายถึง วัตถุที่ตามปกติมิได้ใช้เป็นอาหารหรือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของอาหาร ไม่ว่าวัตถุนั้นจะมีคุณค่าทางอาหารหรือไม่ก็ตาม แต่ใช้เจือปนในอาหารเพื่อประโยชน์ทางเทคโนโลยีการผลิต การแต่งสีอาหาร การปรุงแต่งกลิ่นรส การบรรจุ การเก็บรักษา หรือการขนส่ง ซึ่งมีผลต่อคุณภาพหรือมาตรฐานหรือลักษณะของอาหาร ทั้งนี้ให้หมายความรวมถึงวัตถุที่มิได้เจือปนในอาหาร แต่มีภาชนะบรรจุไว้เฉพาะแล้วใส่รวมอยู่กับอาหารเพื่อประโยชน์ดังกล่าวข้างต้นด้วย เช่น วัตถุกันชื้น วัตถุดูดออกซิเจน เป็นต้น
*สตีวิโอไซด์ (Stevioside) เป็นสารที่สกัดได้จากหญ้าหวาน เป็นสารให้ความหวาน (sweetener) แทนน้ำตาล
*นมปรุงแต่ง หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนําน้ำนมโคหรือนมโคชนิดนมผงมาผ่านกรรมวิธีการผลิตต่างๆแล้วปรุงแต่งด้วยกลิ่นหรือรส และอาจเติมวัตถุอื่นที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
กลุ่มที่ 2 อาหารกําหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน
คือ อาหารที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคแต่ไม่รุนแรงเท่ากับกลุ่มแรก โดยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นมักเนื่องมาจากกระบวนการผลิตหรือกรรมวิธีการผลิตอาหารนั้นไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต มีการกําหนดคุณภาพหรือมาตรฐานและฉลากสําหรับอาหารแต่ละประเภทเหมือนกลุ่มแรก แต่การขออนุญาตผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบในข้อมูลอาหาร เช่น สูตร กรรมวิธีการผลิต ฉลาก ความ ปลอดภัย รวมทั้งคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ยกเว้นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะต้องยื่นขอใช้ฉลากอาหาร ในขณะนี้มี 32 ประเภท ได้แก่
- กาแฟ
- เกลือบริโภค
- ข้าวเติมวิตามิน
- ไข่เยี่ยวม้า
- ครีม
- เครื่องดื่มเกลือแร่
- ช็อกโกแลต
- ชา
- ชาสมุนไพร
- ซอสบางชนิด
- น้ำแข็ง
- น้ำนมถั่วเหลืองในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
- น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
- น้ำปลา
- น้ำผึ้ง **
- น้ำมันถั่วลิสง
- น้ำมันเนย
- น้ำมันปาล์ม
- น้ำมันมะพร้าว
- น้ำมันและไขมัน
- น้ำแร่ธรรมชาติ
- น้ำส้มสายชู
- เนย
- เนยแข็ง
- เนยเทียม
- เนยใสหรือกี
- ผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีน ของถั่วเหลือง
- ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
- แยม เยลลีมาร์มาเลด ในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
- รอยัลเยลลีและผลิตภัณฑ์รอยัลเยลลี
- อาหารกึ่งสําเร็จรูป
- น้ำเกลือปรุงอาหาร
กลุ่มที่ 3 อาหารที่ต้องมีฉลาก
เป็นอาหารที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคค่อนข้างต่ำกว่า 2 กลุ่มแรก แต่มักประสบปัญหาเกี่ยวกับการหลอกลวงผู้บริโภค จึงต้องมีการบังคับให้แสดงฉลาก ควบคู่ไปกับการควบคุมคุณภาพ มาตรฐานให้เป็นไปตามที่กฎหมายกําหนด ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบในข้อมูลอาหารด้านฉลาก เช่น สูตร กรรมวิธีการผลิต และความปลอดภัย ยกเว้นอาหารวัตถุประสงค์พิเศษต้องยื่นขอใช้ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ 11 ประเภท ได้แก่
- ขนมปัง
- ซอสในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
- แป้งข้าวกล้อง
- ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์
- วัตถุแต่งกลิ่นรส
- วุ้นสําเร็จรูปและขนมเยลลี่
- หมากฝรั่งและลูกอม
- อาหารพร้อมปรุงและอาหารสําเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที
- อาหารมีวัตถุประสงค์พิเศษ
- อาหารฉายรังสี
- อาหารทั่วไปที่เป็นอาหารดัดแปรพันธุกรรม หรือพันธุวิศวกรรม
กลุ่มที่ 4 อาหารทั่วไป
ประกอบไปด้วยอาหารที่อยู่นอกเหนือจากอาหารใน 3 กลุ่มข้างต้น อาหารกลุ่มนี้จัดเป็นอาหารที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบ ที่ต้องนําไปผลิตต่อ เช่น แป้งสาลี เห็ดหอมแห้ง น้ำตาล เนื้อสัตว์สด กุ้งแห้ง กะปิ เป็นต้น ซึ่งอาหารกลุ่มนี้ไม่ต้องขอรับเลขสารบบอาหาร ทั้งนี้สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้แบ่งกลุ่มย่อยเพื่อสะดวกในการสืบค้นออกเป็น 9 ประเภท ดังนี้คือ
- สัตว์และผลิตภัณฑ์ (เช่น เนื้อสัตว์สดสัตว์น้ำสดไข่สด)
- พืชและผลิตภัณฑ์ (เช่น พืชผักสด ผลไม้สด ถั่วและนัต)
- สารสกัด/สารสังเคราะห์ (เช่น สารสกัดจากพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบ)
- สารอาหาร (เช่น กรดอะมิโนที่ใช้เป็นวัตถุดิบ)
- แป้งและผลิตภัณฑ์ (เช่น แป้งมันสําปะหลัง วุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยว)
- ผลิตภัณฑ์สําหรับทําอาหารชนิดต่างๆ ที่ยังไม่พร้อมบริโภค
- เครื่องปรุงรส (เช่น ผงเครื่องปรุงรสในซองบะหมี่กึ่งสําเร็จรูป)
- น้ำตาล (เช่น น้ำตาลทราย แบะแซ*)
- เครื่องเทศ (เช่น มัสตาร์ด พริกไทย พริกป่น)
หมายเหตุ *แบะแซ เป็นคำภาษาจีน แปลว่า น้ำตาลทำจากข้าวสาลีงอก ปัจจุบันหมายถึงน้ำตาลที่ได้มาจากการย่อยแป้งมันสำปะหลังหรือแป้งข้าวโพด มีชื่อเรียกอื่นว่า คอร์นไซรัป (Corn Syrup), กลูโคสไซรัป (Glucose Syrup), ลิขวิดกลูโคส (Liquid Glucose)