เนื่องจากตัวยาบางชนิดมีฤทธิ์แรงเกินไปหรือมีพิษมาก อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้ หรือตัวยาบางชนิด อาจไม่สะอาด มีเชื้อโรคปนเปื้อน หรือมีความชื้นมากเกินไป ตัวยาเหล่านี้จึงต้องผ่านกระบวนการประสะ สะตุ หรือฆ่าฤทธิ์ ก่อนนำมาใช้ปรุงยา เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ภาคผนวกนี้จึงนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการประสะ สะตุ หรือฆ่าฤทธิ์ของตัวย บางชนิดก่อนนำไปใช้
นิยาม/ความหมาย
ยาไทย หรือ ยาแผนไทย มักใช้เป็นยาตำรับ ซึ่งแต่ละตำรับประกอบด้วยตัวยาต่าง ๆ ในการเตรียมตัวยา เพื่อใช้ปรุงยาตามตำรับยานั้นมีความสำคัญมาก เนื่องจากตัวยาสมุนไพรหลายชนิดต้องผ่านกระบวนการบางอย่างก่อนที่แพทย์ปรุงยาจะนำมาใช้ปรุงยาได้ ทั้งนี้ เนื่องจากตัวยามีฤทธิ์แรงเกินไป ไม่สะอาด อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค มีปริมาณความชื้นมากเกินไป หรือมีพิษมาก จึงต้องผ่านกระบวนการประสะ สะตุ และฆ่าฤทธิ์เสียก่อนเพื่อความปลอดภัยในการนำมาใช้
ประสะ
- เมื่ออยู่ในชื่อยา คำว่า “ประสะ” มีความหมาย 2 อย่าง คือ ทำให้สะอาด บริสุทธิ์ หรือมีมากขึ้น เช่น ยาประสะน้ำนม หมายถึง ยาที่ทำให้น้ำนมสะอาดขึ้น อีกความหมายหนึ่งคือ มีส่วนผสมเท่ายาอื่นทั้งหมด เช่น ยาประสะกะเพรา หมายความว่า ยานั้นมีกะเพราเท่าตัวยาอื่นทั้งหมดรวมกัน
- แต่ในความหมายที่เกี่ยวกับการเตรียมตัวยาก่อนนำไปใช้ปรุงยานั้น คำว่า “ประสะ” หมายถึง การทำให้พิษของตัวยานั้นลดลง เช่น ประสะยางสลัดไดยางตาตุ่ม ยางหัวเข้าค่า
สะตุ
ในศาสตร์ด้านเภสัชกรรมแผนไทย คำว่า “สะตุ” อาจหมายถึง ทำให้ตัวยาแห้งและมีฤทธิ์แรงขึ้น (เช่น การสะตุสารส้ม), ทำให้พิษของตัวยาลดลง (เช่น การสะตุหัวงูเห่า), ทำให้ตัวยาแห้งและปราศจากเชื้อ (เช่น การสะตุดินสอพอง) หรือทำให้ตัวยานั้นสลายตัวลง (เช่น การสะตุเหล็ก)
ฆ่าฤทธิ์
ฆ่าฤทธิ์ หมายถึง ทำให้ความเป็นพิษของเครื่องยาบางอย่างลดลงหรือหมดไป จนนำไปใช้ปรุงยาได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ยา มักใช้กับตัวยาที่มีพิษมาก เช่น ลูกสลอด สารหนู ปรอท ชาด หรือใช้กับตัวอย่าง ที่ไม่มีพิษ เช่น ชะมดเช็ด ซึ่งเป็นการฆ่ากลิ่นฉุนหรือดับกลิ่นคาว ทำให้มีชะมดเช็ดมีกลิ่นหอม
สมุนไพรที่ต้องผ่านกระบวนการก่อนนำไปปรุงยา
กระดาดขาว
นำมาปิ้งไฟหรือนึ่งก่อน จึงนำไปใช้ปรุงยาได้
กระดาดแดง
นำมาปิ้งไฟหรือนึ่งก่อน จึงนำไปใช้ปรุงยาได้
กลอย
ถ้าเป็นตัวยาสด ให้หั่นเป็นแว่นบาง ๆ นำมาล้างน้ำสะอาด 7 ครั้ง แล้วนำมาตากหรืออบให้แห้ง คั่วด้วยไฟอ่อน ๆ พอสุก จึงนำมาปรุงยาได้
กัญชา
คั่วด้วยไฟอ่อน ๆ พอมีกลิ่นหอม จึงนำมาปรุงยาได้
เกลือ
นำเกลือล้างให้สะอาด ใส่ในหม้อดิน เทน้ำใส่ให้เกลือละลาย แล้วนำมาตั้งไฟจนแห้งและฟู หรือคั่วเกลือที่อุณหภูมิสูง โดยนำเกลือใส่ในหม้อดิน ตั้งไฟให้ความชื้นและน้ำระเหยออกหมด จนเกลือกรอบจึงนำมาใช้ปรุงยา
โกฐน้ำเต้า
นำโกฐน้ำเต้ามาหั่นให้ขนาดเท่าๆ กัน ใส่ในลังถึง ซึ่งมีผ้าขาวห่อที่ฝาลังถึงเพื่อให้ซับไอน้ำที่ระเหยขึ้นมา นึ่งประมาณ 30 นาที นำมาผึ่งให้แห้ง จึงนำไปใช้ทำยาได้
ขี้เหล็ก (ใบ)
นำไปต้มในน้ำเดือด 100 มิลลิลิตร 2 ครั้ง ครั้งละ 3 นาที หรือนำใบเพสลาดมาลนไฟพอตายนึ่งเพื่อลดพิษ จึงนำมาปรุงยา
เพิ่มเติม ใบเพสลาด คือ ใบไม้ระยะที่เพิ่งคลี่ออกเต็มที่ สีเขียวไม่อ่อนไม่แก่ นะครับ เผื่อใครไม่รู้ว่าคืออะไร ส่วนคำว่า ตายนึ่ง หมายถึง เฉาหรือเหี่ยวเพราะโดนความร้อน
เข้าค่า
วิธีที่ 1
นำหัวเข้าค่าใส่ในถ้วย ต้มน้ำร้อนให้เดือด ชงกับหัวเข้าค่า ทิ้งไว้ให้เย็น ค่อย ๆ รินน้ำทิ้ง แล้วใช้น้ำเดือดชงอีกครั้ง จนหัวเข้าค่าสุก จึงนำไปใช้ปรุงยา
วิธีที่ 2
นำหัวเข้าค่าใส่ถ้วย เติมน้ำเย็นลงไปเล็กน้อย ใช้กระทะตั้งไฟใส่น้ำลงไป แล้วนำถ้วยหัวเข้าค่านั้นขึ้นตั้งในกระทะ ปิดฝาตุ๋น อย่าให้น้ำในกระทะเข้าไปในถ้วย เมื่อหัวเข้าค่าสุกจึงนำไปใช้ปรุงยาได้
ไคร้เครือ
คั่วด้วยไฟอ่อน ๆ ให้สุกจนเกือบไหม้ จึงนำมาปรุงยา
จุณขี้เหล็ก
นำผงเหล็กใส่ในหม้อดิน บีบน้ำมะนาวลงไปให้ท่วม ยกขึ้นตั้งไฟอ่อน ๆ ไม่ต้องปิดฝาหม้อจนน้ำมะนาวแห้งทำแบบนี้ 7 ครั้ง จนผงเหล็กกรอบ จึงนำมาปรุงยาได้
เพิ่มเติม จริงๆการทำแบบนี้ สามารถอธิบายได้ด้วยปฏิกิริยาเคมีสมัยใหม่ โดย จุณขี้เหล็ก คือ ferric oxide (Fe2O3) เมื่อเจอกับน้ำมะนาวซึ่งเป็นกรด Citric (C₆H₈O₇) จะเกิดปฏิกิริยาเคมี ดังนี้
C6H8O7 + Fe2O3 → 2FeO + 6CO + 2H2O + 2H2 ซึ่งปฏิกิริยาเคมีนี้จะเกิดฟองอากาศ ซึ่งก็คือแก๊ส CO และ H2 ตรงกับในตำราที่บอกว่าไม่ต้องปิดฝาหม้อ ให้เปิดฝาทิ้งไว้ เพื่อให้แก๊สดังกล่าวระเหยออกไป จะเห็นได้ว่า เราจะได้ผลิตภัณฑ์สุดท้ายเป็น ferrous oxide (FeO) ซึ่ง ferrous ion นี้ ในทางการแพทย์สมัยใหม่ ใช้ในการรักษาโรคโลหิตจางเนื่องจากขาดธาตุเหล็ก
อย่างไรก็ดี ถ้าเราปิดฝาหม้อจนแน่นสนิท จนอากาศออกไปไม่ได้เลย (ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ เพราะหม้อน่าจะระเบิดด้วยความดันซะก่อน) หรือเราใส่น้ำมะนาวลงไปแล้ว ไม่มีฟองเกิดขึ้นเลย อาจเป็นไปได้ว่า เกิดปฏิกิริยาแบบนี้
Fe2O3 + C6H8O7 → Fe2C6H2O7 + 3H2O ซึ่งจะได้ผลิตภัณฑ์สุดท้ายเป็น iron citrate แทน
จุนสี
ละลายจุนสีในหม้อดิน โดยตั้งไฟอ่อน ๆ จนแห้งเป็นผงสีฟ้าอ่อน จึงนำมาปรุงยาได้
ชะมดเช็ด
หั่นหัวหอมหรือผิวมะกรูดให้เป็นฝอยละเอียด ผสมกับชะมดเช็ด ใส่ลงบนใบพลูหรือช้อนเงิน นำไปลนไฟเทียนจนชะมดละลายและหอม แล้วกรองเอาน้ำชะมดเช็ดจึงนำมาปรุงยาได้
ดองดึง
วิธีที่ 1
นำไปต้มหรือนึ่งให้สุกทุกครั้ง แล้วผึ่งแดดหรืออบให้แห้ง จึงนำมาปรุงยาได้
วิธีที่ 2
นำไปปิ้งไฟให้พอสุก ไม่ไหม้เกรียมจนเกินไป จึงนำมาปรุงยาได้
วิธีที่ 3
นำหัวดองดึงมาล้างให้สะอาด เทน้ำผึ้งให้ท่วม เคี่ยวในหม้อดินที่แตกแล้วจนน้ำผึ้งงวดและแห้งจึงนำมาปรุงยาได้
วิธีที่ 4
นำไปพรมเหล้า แล้วนำไปนึ่ง จากนั้นอบให้แห้ง จึงนำมาปรุงยาได้
วิธีที่ 5
นำไปแช่น้ำข้าว จึงนำมาปรุงยาได้
วิธีที่ 6
นำไปคั่วไฟในกระทะทองเหลือง ที่ความร้อน 120 องศาเซลเซียส จึงนำมาปรุงยาได้
ดินประสิว
ตำดินประสิวให้ละเอียดพอควรใส่ในหม้อดินประมาณ 1 ใน 3 ของหม้อที่ใช้สะตุ ไม่ใส่น้ำ ตั้งเตาถ่าน ใช้ไฟอ่อน ๆ ไม่ต้องปิดฝาหม้อดินรอจนดินประสิวละลายแห้งเป็นแผ่น สีขาวขุ่น ทิ้งให้เย็น จึงนำมาปรุงยา
ตองแตก/ทนดี
วิธีที่ 1
นำตัวยาไปคั่วด้วยไฟอ่อน ๆ พอสุกไม่ให้ไหม้ จึงนำไปปรุงยาได้
วิธีที่ 2
หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ คลุกเคล้าด้วยสุราให้ชุ่มแล้วตั้งไฟคั่วให้แห้ง จึงนำมาปรุงยาได้
น้ำประสานทอง
นำน้ำประสานทองใส่หม้อดินหรือกระทะ ตั้งไฟจนละลายและฟูขาวดีทั่วกัน ยกลงจากไฟ จึงนำมาปรุงยาได้
บุก
ถ้าเป็นตัวยาสด ให้หั่นเป็นแว่นบาง ๆ นำมาล้างน้ำสะอาด 7 ครั้ง แล้วนำมาตากหรืออบให้แห้ง คั่วด้วยไฟอ่อน ๆ พอสุก จึงนำมาปรุงยาได้
บุกรอ
ถ้าเป็นตัวยาสด ให้หั่นเป็นแว่นบาง ๆ นำมาล้างน้ำสะอาด 7 ครั้ง แล้วนำมาตากหรืออบให้แห้งคั่วด้วยไฟอ่อน ๆ พอสุก จึงนำมาปรุงยาได้
บุกคางคก
ถ้าเป็นตัวยาสด ให้หั่นเป็นแว่นบาง ๆ นำมาล้างน้ำสะอาด 7 ครั้ง แล้วนำมาตากหรืออบให้แห้งคั่วด้วยไฟอ่อน ๆ พอสุก จึงนำมาปรุงยาได้
เบี้ยจั่น
วิธีที่ 1
นำตัวยาไปตำพอแหลก คั่วให้กรอบ เกือบไหม้ นำมาตำให้เป็นผงละเอียด จึงนำมาปรุงยาได้
วิธีที่ 2
นำตัวยาใส่ในเตาถ่าน เผาจนตัวยาสุก กรอบ เป็นสีขาว นำมาตำให้ละเอียด หลังจากนั้นนำไปแร่งด้วยแร่งเบอร์ 60 จึงนำมาปรุงยาได้
เบี้ยผู้
วิธีที่ 1
นำตัวยาไปตำพอแหลก คั่วให้กรอบ เกือบไหม้ นำมาตำให้เป็นผงละเอียด จึงนำมาปรุงยาได้
วิธีที่ 2
นำตัวยาใส่ในเตาถ่าน เผาจนตัวยาสุก กรอบ เป็นสีขาว นำมาตำให้ละเอียด หลังจากนั้นนำไปแร่งด้วยแร่งเบอร์ 60 จึงนำมาปรุงยาได้
มดยอบ
นำตัวยาไปคั่ว ด้วยไฟอ่อน ๆ พอสุกกรอบ อย่าให้ไหม้ จึงนำมาปรุงยาได้
มหาหิงคุ์
นำมหาหิงคุ์ใส่หม้อดิน เอาใบกะเพราแดงใส่น้ำต้มจนเดือด เทน้ำใบกะเพราแดงขณะร้อน ๆ ลงในหม้อดินเพื่อละลายมหาหิงคุ์ แล้วกรองให้สะอาด จึงนำมาปรุงยาได้
มะกอก
นำตัวยาไปสุม จึงนำไปใช้ปรุงยาได้
มะกอกป่า
นำตัวยาไปสุม จึงนำไปใช้ปรุงยาได้
มะคำดีควาย
นำตัวยาไปสุม จึงนำไปใช้ปรุงยาได้
ยาดำ
วิธีที่ 1 นำยาดำใส่กระทะที่สะอาด คั่วไฟจนละลาย ทิ้งไว้ให้เย็น ยาดำจะกรอบ จึงนำมาปรุงยา
วิธีที่ 2 นำยาดำใส่กระทะ บีบน้ำมะกรูดพอท่วมตัวยา ตั้งบนเตาไฟอ่อน ๆ กวนให้แห้ง แอป อย่าให้ไหม้ทิ้งให้เย็น จึงนำมาปรุงยา
วิธีที่ 3 นำยาดำใส่หม้อดิน เติมน้ำเล็กน้อย ยกขึ้นตั้งไฟอ่อน ๆ จนตัวยาละลาย เหนียวข้น ทิ้งให้เย็น ยาดำจะกรอบ จึงนำมาปรุงยา
ยาสูบ (ใบ)
คั่วด้วยไฟอ่อน ๆ พอมีกลิ่นหอม จึงนำมาปรุงยาได้ ถ้าเป็นยาต้มไม่ต้องคั่ว
รงทอง
วิธีที่ 1 นำรงทองมาบดเป็นผง บีบน้ำมะกรูดใส่ลงจนปั้นได้ ห่อใบบัวหลวง 7 ชั้น ปิ้งไฟอ่อน ๆ จนรงทองละลาย ใบบัวสุกเกรียม
วิธีที่ 2 นำรงทองตำเป็นผง ห่อใบบัวหลาย ๆ ใบ มัดให้แน่น ไม่ให้รงทองรั่วออกมาได้ นำมาปิ้งไฟอ่อน ๆ จนรงทองละลาย ทิ้งให้เย็น รงทองจะสุกกรอบ จึงนำมาทำยาได้ หรือ
วิธีที่ 3 นำรงทองตำเป็นผง ห่อใบข่าหลาย ๆ ใบ มัดให้แน่นไม่ให้รงทองรั่วออกมาได้ นำมาปิ้งไฟอ่อน ๆ จนรงทองละลาย ทิ้งให้เย็น รงทองจะสุกกรอบ จึงนำมาทำยาได้
ระย่อม
แช่น้ำซาวข้าว 3-4 ชั่วโมง หรือพรมเหล้า แล้วนำใส่กระทะคั่วด้วยไฟอ่อน ๆ ให้สุกเหลือง ไม่ให้ไหม้
รักขาว (ใบ)
ตากหรืออบให้แห้ง คั่วให้สุกด้วยไฟอ่อน ๆ ก่อนนำมาทำยา จึงนำมาปรุงยา
ลำโพง/ ลำโพงกาสลัก
คั่วไฟให้เหลืองเกือบจะไหม้ หรือสุมในหม้อดินจนเป็นถ่าน แล้วนำมาใส่ในตำรับยา
ลูกซัด
เอาตัวยาไปคั่ว จึงนำไปใช้ปรุงยา
ส้มป่อย (ฝัก)
นำมาปิ้งไฟ จึงนำไปใช้ปรุงยาได้
สมอทะเล (ใบ)
นำใบสมอทะเลไปนึ่ง ตาก หรืออบให้แห้ง จึงจะนำมาใช้ปรุงยาได้ ส่วนกรณียาต้ม ใช้ใบสดได้โดยไม่ต้องนึ่ง
สลอด
วิธีการฆ่าฤทธิ์สลอดนั้น ตำราการแพทย์แผนไทยให้ไว้หลายแบบ หลายวิธี เช่น
วิธีที่ 1 ปอกเปลือกผลสลอด เอาเมล็ดออก ล้างน้ำให้สะอาด ห่อผ้าขาวบาง ใส่ในหม้อต้มกับข้าวสารหรือข้าวเปลือก กวนจนแห้ง ทำซ้ำอีก 2 ครั้ง แล้วคั่วกับน้ำปลาจนเกรียม จากนั้นเอามาห่อผ้าแล้วทับด้วยของหนักจนน้ำมันออก จึงนำมาปรุงยา
วิธีที่ 2 ใช้ผลสลอดปอกเปลือกแล้ว วันแรกต้มกับใบพลูแก วันที่ 2 ต้มกับใบชะพลู วันที่ 3 ต้มกับใบพริกเทศ วันที่ 4 ต้มกับใบมะขาม วันที่ 5 ต้มน้ำเกลือ วันที่ 6 ต้มกับข้าวสาร วันที่ 7 ต้มกับมูตรโคดำ
วิธีที่ 3 ใช้เมล็ดสลอด ห่อด้วยข้าวสุก ปั้นเป็นก้อน แล้วนำไปเผาไฟอ่อน ๆ จนข้าวสุกเกรียมจึงนำมาทำยาได้
วิธีที่ 4 นำผลสลอดแช่นน้ำปลาร้าปากไหไว้ 1 คืน แล้วยัดเข้าในผลมะกรูด จากนั้นเอาผลมะกรูดสุมในไฟแกลบให้ระอุแล้วบดรวมกัน หรือบางตำราใช้สลอดยัดเข้าในมะกรูดหรือมะนาวแล้วเผาให้เมล็ดสลอดเกรียม
วิธีที่ 5 ปอกเปลือกสลอดให้หมด แช่น้ำเกลือไว้ 2 คืน แล้วจึงเอายัดในผลมะกรูด นำผลมะกรูดใส่ในหม้อดิน ปิดฝาไม่ใส่น้ำสุมในไฟแกลบจนสุก แล้วนำไปปรุงยาพร้อมกับผลมะกรูด
วิธีที่ 6 ต้มสลอดกับใบมะขามและส้มป่อย (1 กำมือ) และเกลือ (1 กำมือ) ให้สุก แล้วตากแดดให้แห้ง
วิธีที่ 7 ปอกเปลือกผลสลอด นำเมล็ดมาแช่น้ำปลาร้าไว้คืน 1 แล้วคั่วให้เหลือง ใช้ผ้าห่อ 5 ชั้นทับเอาน้ำมันออก (ใช้ครกทับ)
วิธีที่ 8 ใช้เนื้อเมล็ดสลอด ใส่ในลูกมะพร้าวนาฬิเก สุมไฟแกลบไว้ 1 คืน จากนั้นทับน้ำออกให้แห้งแล้วคั่วให้เกรียม
วิธีที่ 9 แกะเมล็ดสลอดเอาเปลือกออก ต้มกับน้ำมูตร 1 วัน ต้มกับน้ำมะพร้าว 1 วัน ต้มกับข้าวสารท 1 วัน ต้มกับน้ำอ้อยแดง 1 วัน ทับน้ำให้แห้ง แล้วตากแดดให้แห้ง
วิธีที่ 10 ปอกเปลือกผลสลอด แกะเอาเนื้อเมล็ดสลอด ห่อด้วยข้าวสุกให้มิด นำมาห่อด้วยผ้าขาว ต้มให้น้ำแห้ง 3 หน ตากแดดให้แห้ง แล้วเอาต้มด้วยใบมะขามให้น้ำแห้ง 1 ครั้ง ต้มด้วยใบส้มป่อยให้นน้ำแห้ง 1 ครั้ง ต้มด้วยเกลือให้น้ำแห้ง 1 ครั้ง จากนั้นตากแดดให้แห้ง
วิธีที่ 11 การฆ่าฤทธิ์สลอดโดยนำผลสลอด 108 เมล็ด ผ่าเอาเมล็ดละซีก บดให้ละเอียด แล้วทอดในน้ำมันมะพร้าวไฟให้เกรียม บางตำราใช้วิธีการคั่วให้เมล็ดสลอดเกรียมแทน
สลัดได
วิธีที่ 1 นำยางสลัดไดใส่ในถ้วยทนความร้อน ต้มน้ำร้อนให้เดือด ชงลงในถ้วยยาง กวนให้ทั่ว ทิ้งไว้ให้เย็น ค่อย ๆ รินน้ำทิ้ง ทำแบบนี้ 7 ครั้ง จนน้ำยางสุก เอาน้ำยางมาผึ่งให้แห้ง จึงนำมาปรุงยาได้
วิธีที่ 2 นำยางสลัดไดใส่ถ้วยทนความร้อน นึ่งในกระทะที่มีน้ำ ใช้ไฟปานกลาง ปิดฝากระทะไม่ต้องปิดฝาถ้วยน้ำยาง นึ่งแบบไข่ตุ๋น ระวังอย่าให้น้ำในกระทะกระเด็นลงในถ้วยยาง นึ่งจนยางสุก นำยางไปผึ่งแดดให้แห้งแล้วนำมาย่างด้วยไฟอ่อน ๆ จึงนำมาปรุงยาได้
วิธีที่ 3 นำต้นสลัดได หั่นเป็นชิ้น แล้วตากให้แห้ง จึงนำมาปรุงยาได้
สะบ้ามอญ
นำตัวยาไปสุมกับไฟ จึงนำไปใช้ปรุงยาได้
สัก
นำตัวยาไปสุมกับไฟ จึงนำไปใช้ปรุงยาได้ ถ้าใส่ยาต้ม ไม่ต้องสุมไฟ
สารส้ม
สารส้มที่ใช้ทางยานั้น มักจะนำมาสะตุก่อนใช้ เรียก สารส้มสะตุ หรือ สารส้มสุทธิ โดยนำสารส้มมาบดให้ละเอียด ใส่ในหม้อดินหรือกระทะเหล็ก ตั้งไฟจนสารส้มฟูและมีสีขาว แล้วจึงยกลงจากไฟ ทิ้งให้แห้ง
สีเสียดเทศ
ถ้าใส่ยาผง ให้ทุบเป็นก้อนเล็ก ๆ คั่วด้วยไฟอ่อน ๆ ไม่ให้ไหม้ จึงนำมาปรุงยา ถ้าเข้ายาภายนอกไม่ต้องสะตุ
หวายตะค้า
นำตัวยาไปสุมกับไฟ จึงนำไปใช้ปรุงยาได้ ถ้าใส่ยาต้ม ไม่ต้องเอาไปสุมไฟ
หอยขม
- นำตัวยาใส่ในหม้อดินประมาณครึ่งหม้อ ปิดฝาตั้งไฟถ่าน ใส่ถ่านให้เต็มเตา ใช้ไฟแรง รอจนถ่านมอด ทิ้งให้เย็น เปิดดูเปลือกหอย จะขาวกรอบ ใช้มือหักได้
- ถ้ายังไม่สุกขาวกรอบให้สุมอีกรอบ ใส่ถ่านให้เต็มเตา ใช้ไฟแรง เปลือกหอยจะสุก ขาวกรอบ นำมาตำให้ละเอียด แร่งด้วยแร่งเบอร์ 60 จึงนำมาปรุงยาได้
หอยแครง
- นำตัวยาใส่ในหม้อดินประมาณครึ่งหม้อ ปิดฝาตั้งไฟถ่าน ใส่ถ่านให้เต็มเตา ใช้ไฟแรง รอจนถ่านมอด ทิ้งให้เย็น เปิดดูเปลือกหอย จะขาวกรอบ ใช้มือหักได้
- ถ้ายังไม่สุกขาวกรอบให้สุมอีกรอบ ใส่ถ่านให้เต็มเตา ใช้ไฟแรง เปลือกหอยจะสุก ขาวกรอบ นำมาตำให้ละเอียด แร่งด้วยแร่งเบอร์ 60 จึงนำมาปรุงยาได้
หัวยั้ง
ใส่กระทะคั่วพอสุก ก่อนนำมาปรุงยาผงหรือยาต้ม
หัสคุณเทศ
นำตัวยาไปคั่ว จึงนำไปใช้ปรุงยาได้
หัสคุณไทย
นำตัวยาไปคั่ว จึงนำไปใช้ปรุงยาได้
โหราเดือยไก่
นำมานึ่งก่อน จึงนำไปใช้ปรุงยาได้
โหราท้าวสุนัข
นำมานึ่งก่อน จึงนำไปใช้ปรุงยาได้
อุตพิด
ถ้าเป็นตัวยาสด ให้หั่นเป็นแว่นบาง ๆ ล้างน้ำสะอาด 7 ครั้ง แล้วนำมาตากหรืออบให้แห้ง คั่วด้วยไฟอ่อน ๆ พอสุก จึงนำมาปรุงยาได้
ถ้าเป็นตัวยาแห้ง ให้หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ จากนั้นนำมาคั่วในกระทะให้เหลือง จึงนำมาใช้ปรุงยาได้
ที่มา
- หนังสือรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ ฉบับ พ.ศ.2564, กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, กระทรวงสาธารณสุข